จิปาถะ

ผลพวงจาก “การสะกดผิด” ของคนไทย

สืบเนื่องต่อมาจาก ตอนที่แล้ว คำที่ไม่ “น่า” ผิด ก็ผิดกันได้ทุกทีสิน่า ตอนนี้ ก็เลยมาว่ากันต่อ ด้วยผมยังรู้สึกว่า สิ่งที่เราพูดกันมายังไม่หมด ยังมีอีกมากมายเกี่ยวกับการเขียนคำไทยของคนไทยที่น่าเป็นห่วง และเราก็ยังพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ยิ่งพบก็ยิ่งรู้สึกว่า มันชักวิกฤตหนักข้อขึ้นทุกทีแล้ว

น่ากลัวว่า สักวันหนึ่ง ที่คนพวกนี้เติบโตขึ้นด้วยการมองว่า ภาษาไทยมีกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยาก และเห็นว่าควรปรับเปลี่ยนให้มันเขียนง่ายใช้ง่ายตามใจอยากของตน ภาษาไทยคงถูกตัดทอนจนไม่เหลือเสน่ห์ เพียงเพื่อจะได้ใช้ “ภาษาไทย” ในแบบที่ “เอาง่ายเข้าว่า” ใส่ใจเพียง “สื่อสารได้(จริงหรือ?)ก็พอ” โดยลืมไปว่าตนเองกำลัง “มักง่าย(ซะมากกว่า)” กับ “ภาษาของตนเอง”

เอาละ ลองมาดูกันเพิ่มเติมอีกซิ

ว่า มีกรณีไหนอีกบ้างที่คนไทยใช้ภาษาแบบ “มักง่าย” กันอีกบ้าง

01 โคตร-โครต

“โคตร” มักถูกใช้กันอยู่บ่อยๆ เป็นคำที่จะว่าหยาบก็ได้ จะว่าไม่หยาบก็ได้ หลายเว็บเลือกที่จะให้มันเป็นคำหยาบ บางคนจึงเลี่ยงไปเขียน “โครต” อันเป็นวิธีสะกดที่ผิดและในที่สุด ก็กลายเป็นความเคยชิน…. (น่าเศร้า)

02 คะ-ค่ะ

สืบเนื่องจากข้อเขียนคราวก่อน มีคนมาช่วยเสริมเรื่องการเขียนที่มักสับสนการสะกดอยู่เสมอๆ “ค่ะ” กับ “คะ” หลายครั้งที่ใช้สลับกันเสียอย่างนั้น คือ ออกเสียงกันตามที่ใช้งานกันจริงอะแหละ แต่พอสะกดกลับผิดซะงั้น -_-“

“ไปไหนมาคะ?” ตรงนี้ ควรจะเป็น “คะ” ซึ่งเป็นเสียงสูง
“สวัสดีค่ะ” ตรงนี้ ควรจะเป็น “ค่ะ”

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากคอมเมนต์ด้านล่างละกันครับ

03 ใจ-จัย

หลายทีหลายคน เห็นกันเป็นประจำ และน่ารำคาญมากๆ “ไม่” ถูกเขียนเป็น “มั่ย”

“ใน” ถูกเขียนเป็น “นัย”
“ใจ” ถูกเขียนเป็น “จัย”

การเขียนแบบนี้ ไม่ได้ช่วยให้คุณเขียนไวขึ้นหรือง่ายขึ้นแต่อย่างไร เขียนลำบาก อ่านก็ลำบาก สมองต้องประมวลผล 2 ขั้นโดยไม่จำเป็น ก็ไม่รู้ว่ามัน “เท่” ตรงไหนที่เขียนแบบนี้

04 เว้นวรรค

ผมสังเกตว่า หลังๆ มานี่ เด็กไทยเขียนภาษาไทยไร้การ “เว้นวรรค” บ่อยครั้งเป็นอย่างยิ่ง พิมพ์ยาวเป็นพรืด ยิ่งมาเจอเบราเซอร์ที่ตัดคำไม่เก่งนี่ หน้าเว็บถูกดึงกระจาย การเขียนภาษาไทยของคนบ้านเราเข้าขั้นวิกฤตแล้วล่ะ

05

พอดีกว่ามั้ง เหนื่อย(ใจ)ละ

ทีนี้ มาคิดต่อ ว่าผลพวงจากการที่คนไทยเขียนภาษาไทยกันแบบนี้ มีสร้างปัญหายังไงต่อไปบ้าง

  • เมื่อเราพิมพ์ข้อความเพื่อค้นหาตาม Search Engines ต่างๆ ถ้าเราพิมพ์สะกดถูกๆ บางทีก็หาไม่เจอ เมื่อไม่เจอก็ต้องคิดว่า คนอื่นเขาจะสะกดผิดๆ ยังไง จะได้หาเจอ คราวนี้ ทุกคนก็ต้องมีแพทเิทิร์นที่สับสนในหัว ตกลง อันไหนสะกดถูก สะกดผิดวะเนี่ย
  • การเขียนคำไทย โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง กำลังกัดกร่อนความแข็งแรงของภาษาตนเองอย่างช้าๆ วันหนึ่ง มันจะถูกกัดกร่อนอย่างเร็วมากขึ้น วันนั้น ภาษาไทยอาจไม่เหลือโครงสร้างอีกต่อไป ใครอยากจะใช้อย่างไรก็ใช้ กลายเป็นภาษาที่อ่อนแอ คล้ายภาษาที่เกิดใหม่ อยากเห็นวันนั้นกันไหมล่ะ
  • การเขียนผิดกันเป็นปกติวิสัย ขยายวงไปทั่วทั้งชาติ ไม่มีใครรู้ว่า อะไรเขียนถูก อะไรเขียนผิดอีกต่อไป คิดดูแล้วกันว่า ความยุ่งยากในการสื่อสารจะเพิ่มขึ้นแค่ไหน การสะกดผิดๆ ปรากฏอยู่เต็มเอกสารสำคัญ แม้แต่กฎหมาย อาจก่อให้เกิดการตีความผิดๆ ตามความเข้าใจที่ไม่เหมือนกันของแต่ละคน ไม่สนุกเลยนะ วันนั้น
  • ความน่าเป็นห่วงอีกอย่าง ก็คือสิ่งที่ผมเปรยไปข้างต้น ผมเกรงว่า วันนึง พอคนรุ่นใหม่โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ อาจคิดเปลี่ยนรูปแบบและเอกลักษณ์ของภาษาไทยไปตามความ “มักง่าย” ของตนเอง (เหมือนที่สมัยหนึ่งรัฐบาลเคยปรับเปลี่ยนภาษาไทยมาแล้ว) การเปลี่ยนแปลงของภาษาไม่ใช่เรื่องที่แปลก เพราะตราบใดที่ยังเป็นภาษาเป็น ไม่ใช่ภาษาที่ตายแล้ว มันย่อมต้องเปลี่ยนแปลง แต่ควรจะค่อยเป็นค่อยไปตามสถานการณ์ หรือเปลี่ยนตามใจอยากกันล่ะครับ?

ผมอาจตระหนกมากไปเองก็ได้ แต่ใครจะรู้ บางข้อมันอาจเกิดขึ้นกับคุณแล้ว บางข้อ อาจจะเกิดขึ้นในไม่ช้าก็ได้

ภาษาไทยที่แข็งแรงมาหลายร้อยปี อาจถึงจุดเปลี่ยนอย่างที่ไม่อาจหวนกลับ รักษามันไว้ให้คงอยู่กับบ้านเมืองตลอดไปก็แล้วกัน

บ่นเหมือนคนแก่เลยเนอะ!

PatSonic

บล็อกเกอร์ผู้ชอบดูหนังหลากแนว ฟังเพลงหลายสไตล์ มีเวลาว่างก็จะออกไปท่องเที่ยว บางเวลาก็หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หยิบซีรีส์ขึ้นมาดู แล้วก็จะหยิบมาเขียนให้ทุกคนได้อ่านกัน

12 คอมเมนต์

  1. น้อยคนนะที่จะคิดถึงผลกระทบจากการง่ายเข้าว่า จนเป็นมักง่าย เหมือนที่คนตะก่อนเปรียบเปรยกับการทานอ้อย จะทานหวานก่อนหรือจืดก่อน

  2. คงต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่องน่ะค่ะ เดี๋ยวนี้คนไทยผันวรรณยุกต์ผิดเยอะมาก บางทีมันเป็นคำเคยชินด้วยนะ เห็นเค้าใช้ ก็ใช้ตามๆกัน

  3. เห็นด้วย โดยเฉพาะย่อหน้าสุดท้าย แก่แล้ว…

    ทุกวันนี้ ผมก็ยังพยายามอยู่ เพราะบางทีก็พลาดๆเขียนผิดบ้างเหมือนกัน

  4. เรื่องนี้เราก็ซีเรียสและจริงจังตลอดค่ะ บางทีอย่างเจอน้องที่คุย msn กับเรา พิมพ์ผิดๆมาก็อยากจะเลิกคุยซะเลย แล้วแบบว่าถ้าเตือนไปก็โดนมองว่า ป้านี่จริงจังเหลือเกิน แต่ว่าถ้าไม่รู้จักใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง แล้วจะมีไปทำไมน่ะภาษาตัวเอง อ่อ อันที่จริงเรื่องวรรณยุกต์ที่ใส่ผิด อย่าง คะ ค่ะ ไม่ใช่แค่เด็กไทย แต่ผู้ใหญ่กว่าฉัน ฉันก็เจอมาแล้วค่ะ เวลาเห็นตอบ msn มาทีไร พาลทำให้ฉันรู้สึกหงุดหงิดใจเล็กๆทุกทีเลย เฮ้ออออ ถ้าให้บ่นเรื่องการใช้ภาษาไทยของคนอื่นๆตอนนี้ คงบ่นบ้ายาวยืดได้แน่ๆค่ะ

  5. ผมว่าภาษามันเปลี่ยนได้ตลอดนะ และก็จะมีคำใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกๆ วัน เช่น คำว่า แอ๊บแบ่ว เป็นต้น

  6. คำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน เป็นเรื่องปกติของภาษาที่ยังไม่ตายครับ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเล็กๆ และไม่นานคำพวกนั้นก็มักจะหายไป ไม่ได้มีผลต่อองค์รวมของภาษามากมายนัก

    แต่การเขียนไทย สะกดคำไทย ที่ผิดๆ มากมายหลายคำของคนทั้งชาตินี่สิ มันคือ ความอ่อนด้อยทางภาษาของคนในชาติ น่าสะพรึงกว่าเยอะครับ

  7. ถ้าทำ blog ให้เด็กๆดูแบบผม แล้วจะตกใจครับว่าเขียนอะไรให้อ่านกันนี่ มะเข้าจัยเรยยยคร้า

  8. คำว่า ค่ะ ออกเสียงโทครับ ส่วนเสียงเอกสะกดว่า ขะ เวลาออกเสียงสำเนียงภาษากลาง ออกเป็นเสียงเอกมากกว่าโท แต่ถ้าเขียนว่า ขะ คงเดาไม่ออกว่าคำว่าอะไร เลยเขียน ค่ะ แต่ถ้าอ่านตามที่เขียนก็ฟังเข้าใจ แต่ดูเหมือนเสียงพูดประชดมากกว่า (ลองพูด ขะ กับ ค่ะ ดู อันไหนตรงกับภาษาพูดมากกว่ากัน)

    อ่านหมายเหตุประกอบ ถ้าหากไม่เข้าใจคำจำกัดความตามหลักภาษาไทย

    คำเป็นผันได้ห้าเสียง คำตายผันได้สี่เสียงครับโดยไม่มีผันเสียงสามัญ (ในความคิดของผมคือออกเสียงคำตายเสียงสามัญได้ แต่ผันไม่ได้ เพราะไม่มีไม้สามัญ ถ้าไม่มีวรรณยุกต์ อักษรกลางกับสูงจะกลายเป็นเสียงเอก อักษรสูงกลายเป็นเสียงโทถ้าเป็นสระเสียงยาว เสียงตรีถ้าเป็นสระเสียงสั้น

    ตัวอย่าง ขอเน้นคำอนุภาค (particles เพิ่งรู้จากอินเตอร์เนตว่าเขาเรียกคำในภาษาพูดอย่าง จ้ะ ค่ะ ครับ ว่าคำอนุภาค) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาษาไทย

    คำเป็น
    นา หน่า น่า/หน้า น้า หนา (ได้ห้าเสียง) น่า กับ หน้า เป็นคำพ้องรูป คือเสียงเหมือนกัน
    กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า

    คำตาย อักษรกลาง
    – จะ จ้ะ จ๊ะ จ๋ะ

    คำตายเสียงยาว (อักษรต่ำคู่ ผันกับอักษรสูง หรืออักษรต่ำเดี่ยวผันกับ ห นำ)
    – เถิด เทิด เทิ้ด เทิ๋ด/เถิ๋ด

    คำตายเสียงสั้น (อักษรต่ำ-อักษรสูง/ห นำ)
    – หนะ น่ะ/หน้ะ นะ น๋ะ
    – ขะ ค่ะ/ข้ะ คะ ค๋ะ/ข๋ะ
    – สิ ซิ่/สิ้ ซิ ซิ๋/สิ๋

    หมายเหตุ
    1. หลายคนอาจจะประหลาดใจที่เติมไม้จัตวาบนอักษรสูงกับอักษรต่ำได้ ตามหลักภาษาได้ครับ แต่เนื่องจากว่าไม่มีคำไหนที่เขียนหรือออกเสียงอย่างนั้นก็เลยไม่มีที่ใช้กัน ส่วนไม้ตรีไม่มีการใช้กับอักษรสูงและอักษรกลางแต่อย่างใด
    2. ภาษาไทยแท้ๆ ไม่ค่อยมีใช้ไม้ตรีกับไม้จัตวาอยู่แล้วครับ ผมอ่านในนิตยสาร ผู้รู้เขาสันนิษฐานว่าสองไม้นี้คิดค้นมาสมัยอยุธยาเพื่อใช้เขียนคำที่มาจากภาษาจีนครับ อย่าง โต๊ะ เก๊ะ ปุ้งกี๋ ปุ๋ย เป็นต้น
    3. คำเป็น คำตาย
    3.1 คำเป็นคือคำที่มีตัวสะกดเป็นแม่ กง กน กม เกย เกอว หรือคำที่ตามด้วยแม่ ก กา (ไม่มีตัวสะกด)เป็นสระเสียงยาว (อา อี อือ อู ฯลฯ)
    4.1 คำตายคือคำที่สะกดด้วยแม่ กก กด กบ หรือคำเป็นแม่ ก กาที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น (อะ อิ อึ อุ ฯลฯ)
    4. ของแถม สำหรับคนผันเสียงยังไม่ถูก ก่อนอื่นต้องแยกให้ได้ก่อนว่าอันไหนเป็นอักษรสูง กลาง หรือต่ำ
    4.1 ท่องอักษรกลางเอาครับ คือ ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง
    4.2 แล้วอักษรที่เหลือ ที่ชื่อเป็นเสียงจัตวาเป็นอักษรสูง ชื่อเป็นเสียงสามัญเป็นอักษรต่ำ (ท่องเอาก็ได้ครับ ไข่ขวดฉิ่งฐาน ผึ้งฝาศาล ฤาษีเสือหีบ แต่ไม่จำเป็น ใช้หลักอันแรกดีกว่า)
    4.3 อักษรต่ำเดี่ยวหรือคู่ ให้ลองใส่ ห นำดู ถ้าทะแม่งก็เป็นอักษรต่ำคู่ครับ แล้วลองหาคู่อักษรสูงเอา อย่าเช่น ช/ฌ คู่กับ ฉ แต่ ม ไม่มีคู่ ก็ต้องคู่กับ ห นำ คือ หม

    เรื่องต่อมาที่อยากจะท้วงติงก็คือ เรื่องการสะกดการันต์ผิด ซึ่งต้องยอมรับภาษาไทยเป็นภาษาที่ต้องท่องจำเยอะมาก แต่ก็เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาษาเหมือนกันที่คงรูปตัวสะกดเพื่อคงความหมาย หรืออนุรักษ์รูปการเขียนแบบเก่า แต่ก็ทำให้ลำบากในการจำเพื่อมาใช้พอดู คงอธิบายตรงนี้ได้ไม่หมดนะครับ

    ตกหล่นตรงไหนท้วงติงด้วยครับ

  9. ดีจังเลยครับ ข้อมูลแน่นปึ้กขนาดนี้ ทำให้รู้ว่า ก็มีบางเรื่องที่ผมเข้าใจผิดอยู่เหมือนกัน

    เยี่ยมเลย

  10. สงสัยตรงย่อหน้านี้

    ?ค่ะ? ซึ่งออกเสียงต่ำตามความนิยมอ่านที่ต้องบอกว่า ?ตามความนิยมอ่าน? ก็เพราะจริงๆ แล้ว ?ค่ะ? นั้น ถือว่าเป็นการใส่วรรณยุกต์ที่ผิด ?ค? เมื่อเจอกับสระเสียงสั้น ไม่มีทางผันด้วยไม้เอกได้อย่างเด็ดขาด ตรงนี้ ลามไปถึงการใส่ไม้เอกบน ?ล? และ ?ว? อย่าง ?ล่ะ? และ ?ว่ะ? ด้วย

    เลยไปเปิด
    http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp

    คะ ๒ ว. คําลงท้ายที่ผู้หญิงใช้ต่อจากคำถามหรือคำแสดงความสงสัยเพื่อ
    แสดงความสุภาพ เช่น อะไรคะ กระมังคะ, คำลงท้ายที่ผู้หญิงใช้ต่อ
    จากคำ ซิ นะ เพื่อแสดงความสุภาพ เช่น เชิญซิคะ ไปนะคะ
    ค่ะ ว. คํารับที่ผู้หญิงใช้อย่างเดียวกับ จ้ะ, คำลงท้ายที่ผู้หญิงใช้ในการบอก
    ให้ทราบอย่างสุภาพ เช่น ไปค่ะ ไม่ไปค่ะ
    ล่ะ ว. คำใช้ประกอบข้อความข้างหน้าเพื่อยืนยันให้มีน้ำหนักขึ้น เช่น
    มิน่าล่ะ จะไปไหมล่ะ, เล่า ก็ว่า
    วะ ๑ ว. บ๊ะ, คำที่เปล่งออกมาแสดงอารมณ์ผิดคาดหรือผิดหวังเป็นต้น,
    อุวะ หรือ ว้า ก็ว่า; คำบอกเสียงต่อท้ายประโยคแสดงความคุ้นเคย
    เป็นกันเองหรือแสดงความไม่สุภาพ เช่น ไปไหนวะ.

    คำว่า น่ะ ไม่มีในพจนานุกรม คำว่า ว่ะ ก็ไม่มี ไม่รู้ทำไม

    http://www.thai-language.com/ubb_cgi/ultimatebb.cgi?ubb=print_topic;f=43;t=000426
    “อักษรต่ำ +สระเสียงสั้น + ตัวสะกดคำตาย ซึ่งมีได้แต่วรรณยุกต์เอกและจัตวาเท่านั้น”

  11. อยากให้เด็กไทยเข้ามาอ่านเยอะๆครับ หัวข้อข้อนี้ ได้ประโยชน์

Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Adblock Detected

เนื่องจากบล็อกนี้อยู่ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อผู้เยี่ยมชม รบกวนไม่ใช้ Ad Blocker เพื่อการเยี่ยมชมที่สมูธครับ