ดนตรีดีๆ ไม่มีกระได Friendly Classics จาก บัณฑิต อึ้งรังษี

ดนตรีคลาสสิก อาจจะดูเป็นของไกลตัวสำหรับบางคน ดูมันเป็นสิ่งที่ไม่เข้าหูอย่างหนึ่งในชีวิต ฟังดูน่าเบื่อ ฟังแล้วง่วงนอน เพลงหนึ่งยาวเป็นชั่วโมง หรือจะต้องทำตัวเป็นพวกไฮโซ แต่งตัวเริดๆ เดินเข้าฮอลล์ไปนั่งฟัง นอกจากนั้น ยังรู้พิธีการ ต้องปรบมือให้ถูกที่ถูกเวลา ..อีกสารพัด

ผมเองก็เคยเป็นพวกไม่ฟังเพลงคลาสสิกมาก่อน จนมาวันหนึ่ง ผมได้ลงเรียนวิชาๆ หนึ่ง ที่พาให้ผมไปรู้จักกับเพลงและคีตกวีผู้มีชื่อเสียงของโลก วันนี้ ผมเริ่มมาฟังเพลงคลาสสิกมากขึ้น …

ดนตรีดีๆ ไม่มีกระได Friendly Classics

แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร ผมลองซื้ออัลบั้มของบาคมาฟัง เข้าหอประชุมเพื่อไปดูคอนเสิร์ตวงออร์เคสตร้าเพื่อทำรายงาน รู้สึกตัวเองใกล้ชิดกับดนตรีคลาสสิกมากขึ้น …แต่ไม่นาน หลังจากเรียนจบวิชา ดนตรีคลาสสิกก็เริ่มจะจางๆ จากผมไป

วันที่ผมไปเดินงานสัปดาห์หนังสือฯ ผมเห็นหนังสือเล่มนี้ ผมอดใจไม่ได้ที่จะหยิบขึ้นมาพลิกอ่าน… “ดนตรีดีๆ ไม่มีกระได Friendly Classics”

ผลงานการเรียบเรียงจาก 2 บุรุษ นาม บัณฑิต อึ้งรังษี วาทยากร หรือ คอนดักเตอร์ระดับโลกชาวไทย กับอีกคน จุมพฏ สายหยุด ที่อยู่ใน Project Smart Music หยิบเอาเรื่องที่คนไทยห่างไกลจากมัน เลือกเฟ้นเพลงที่เพราะน่าฟังให้คนที่ใคร่อยากสดับดนตรีคลาสสิกได้ใช้เป็นแนวทาง เพราะคุณบัณฑิตเขียนไว้ว่า ดนตรีคลาสสิกก็เหมือนดนตรีในแนวอื่นๆ ที่มีแค่สองอย่าง “ดนตรีที่ดี” กับ “ดนตรีที่แย่ๆ” คลาสสิกก็มีที่แย่ๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เขาก็เลือกเฟ้นเพลงดีๆ เอาไว้ให้ บางเพลงเลือกท่อนมาให้ไว้ด้วยเลย

ก็เพลงคลาสสิกมันจะยาวและมีหลายท่อนท่อนย่อยนี่นา ช่ายมะ ช่ายมะ

หน้าปก ‘ดนตรีดีๆ ไม่มีกระได’

หนังสือประกอบไปด้วยกระดาษอาร์ตมันทุกหน้า ความหนาไม่มากนัก แค่ 150 หน้า ขนาดหนังสือก็ย่อมเอามากๆ สามารถพกไปนั่งอ่านที่ไหนก็ได้ (ผมนั่งพกไปนั่งอ่านในส้วมเลยครับ) ทั้งเล่มเป็นเรื่องราวประวัติของ 10 สุดยอดคีตกวีที่มีชื่อเสียงของโลก ทั้ง บาค บราห์มส์ ไชคอฟสกี้ เกิร์ชวิน ชูเบิร์ต วิวาลดี ไฮเดิน เฮนเดล และแน่นอน ต้องมีเบโธเฟน และโมสาร์ต รวบรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ทำให้คุณได้รู้จักทั้งสิบอย่างง่ายๆ รวบรวมรายชื่อผลงานเด่นๆ ไว้ให้ พร้อมระบุเพลงที่เพราะน่าลองฟังไว้ให้ด้วย ไม่ต้องไปหาเองแล้ว ว่าเพลงไหนน่าฟังบ้าง เมื่อวายทากรคนดังระดับโลกของไทยคัดสรรไว้ให้แล้วอย่างนี้

ปิดท้ายด้วย ภาพเครื่องดนตรีคลาสสิกชนิดต่างๆ รายชื่อบทเพลง คำศัพท์ และข้อมูลยุคต่างๆ ของดนตรีคลาสสิก สำหรับผม มันคือ คัมภีร์เล่มย่อมๆ เอาไว้ เมื่ออยากทบทวนความรู้จักกับเพลงคลาสสิกเมื่อไหร่ ก็จะได้หยิบขึ้นมาอ่าน แต่สงสัยต้องรวบรวมเพลงคลาสสิกเพราะๆ ไว้ฟังซะแล้ว…

ผมชอบใจคำพูดของคุณบัณฑิตอยู่ข้อความหนึ่ง ที่ว่า “การฟังดนตรีคลาสสิกให้ได้อรรถรส มีปัจจัยสำคัญอยู่สองอย่าง คือ ประการแรก ใช้หัวใจฟัง เลือกเฉพาะเพลงที่ชอบ ไม่ชอบก็ไม่ต้องฟัง และประการที่สอง ฟังซ้ำๆ เพลงไหนชอบ ก็ฟังมันบ่อยๆ เข้า ยิ่งฟังจะยิ่งได้อรรถรสมากขึ้น”

ผมชอบตรงใช้หัวใจฟังนี่แหละ ไม่จำเป็นต้องรู้ว่า เพลงนี้มีที่มายังไง อารมณ์ของมันเป็นยังไง ฟังแล้วจินตนาการตามความรู้สึกที่เราได้ฟัง นั่นก็พอแล้ว ฟังเฉพาะท่อนที่ชอบ ท่อนไหนไม่ชอบก็ทิ้งไป คุณบัณฑิตบอกว่า เพลงคลาสสิกก็เหมือนกับเพลงทั่วไป มีทั้งเพราะและไม่เพราะ เพลงไหนไม่เพราะไม่ชอบ ก็ไม่ต้องฟัง แค่นั้นแหละครับ

ฟังเพลงคลาสสิกไม่ต้องใช้กระได ใช้หัวใจก็พอครับ…

Exit mobile version