ภาพยนตร์

‘ขุนรองปลัดชู’ วีรชน 2 บรรทัด 252 ปีที่ถูกลืม

ชวนรำลึกถึงคนดีที่ถูกลืม แม้ตัดต่อได้เมื่อยมากแต่ก็เต็มตื้นซาบซึ้งหัวใจ

ในที่สุด ผมก็ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงหนัง ‘วีรชน คนถูกลืม ตอน ขูนรองปลัดชู’ ภาพยนตร์ที่อ้างอิงจากพงศาวดาร ที่ปรากฏวีรกรรมของชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญที่มีอยู่เพียงน้อยนิด และมีเพียงไม่กี่คนจะรู้จักชื่อของเขา

'ขุนรองปลัดชู' วีรชน 2 บรรทัด 252 ปีที่ถูกลืม
ภาพจากหนังไทย ‘วีรชนคนถูกลืม ตอน ขุนรองปลัดชู’

เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดเพื่อเตือนสติคนไทย ในยามที่ชนชั้นปกครองมองเห็นแต่ประโยชน์ของตนเองมากกว่าบ้านเมือง จนทำให้เราต้องฆ่ากันเอง เหตุการณ์ทำนองกำลังบังเกิดซ้ำรอยเดิมอีกครั้งใน พ.ศ. นี้


ค่ำของวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมเดินทางสู่โรงภาพยนตร์ Scala เพื่อชมรอบพิเศษรอบหนึ่งที่เปิดให้ชมฟรี แม้จะมีให้ชมทางทีวี Thai PBS แต่ผมชอบที่จะได้ชมบนจอใหญ่ๆ มากกว่า

เรื่องราวที่สร้างบทเพิ่มเติมตามจินตนาการ ผสานกับเหตุการณ์ที่อิงประวัติศาสตร์แบ่งเป็นองก์ต่างๆ ประมาณ 9-10 องก์ แต่ละองก์จะมีชื่อเฉพาะของมัน เล่าเรื่องนับเนื่องจากวันที่แผ่นดินอยุธยากำลังเข้าสู่ช่วงผลัดแผ่นดิน แต่การแย่งชิงอำนาจบนราชบัลลังก์ทำให้ข้าราชการตัวเล็กๆ ในหัวเมืองเล็กๆ คนหนึ่งรู้สึกกระอักกระอ่วน ในวันที่พี่น้องแย่งชิงกันเป็นใหญ่ เหล่าข้าราชการกลุ่มต่างๆ ต่างก็เลือกข้างและดำเนินการเพื่อหวังให้ตนเองได้กลายเป็นผู้เลือกถูกในวันข้างหน้า ชายผู้นั้นได้แต่คิดว่า “ทำไมไม่มีคนคิดถึงบ้านเมือง”

วีรบุรุษที่ถูกลืม
ภาพจากหนัง ‘วีรชนคนถูกลืม’

จนในที่สุด หลังวันที่เขาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการฆ่าเพื่อผลประโยชน์ เขาเลือกจะออกมาจากระบบราชการ ขอเป็นนายตัวเอง และพร่ำฝึกเพื่อนพี่น้องชาววิเศษชัยชาญด้วยเพลงดาบอาทมาต ก่อนที่วันหนึ่ง จะได้รับทราบข่าวร้าย เมื่อพม่าอาศัยช่วงที่อยุธยายังตั้งตัวไม่ติดกับความวุ่นวายภายใจ หมายเข้าตีให้ย่อยยับ ประกอบกับร้างการศึกมากว่า 90 ปี ไร้นายทหารที่ชาญศึกจะรับมือศัตรู หลายปีที่ผ่าน ไทยไม่ได้จับดาบฆ่าศัตรู ได้แต่ฆ่ากันเอง – -” สุดท้ายก็เลือกเข้าร่วมรบด้วยกำลังเพียงหยิบมือ ก่อนทุกอย่างจะจบลงด้วยความย่อยยับของกองทัพกระจ้อยร่อยกองนั้น

เวลาผ่านมาแล้ว 252 ปี คนไทยได้รู้จักเรื่องราวของเขาเพียงข้อความในพงศาวดารเพียง 2 บรรทัดเท่านั้น ปัจจุบัน ผู้คนใน อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง น่าจะเป็นผู้คุ้นเคยกับชื่อ “ขุนรองปลัดชู” มากที่สุด เพราะมีทั้งอนุสาวรีย์ ข้อความจารึกในพงศาวดาร “วัดสี่ร้อย” และ “ตำบลสี่ร้อย” คือสิ่งรำลึกถึงวีรกรรมเหล่านั้น…

“วันนี้กูมองเห็นแต่ความเสื่อมสลาย เห็นแต่ผลประโชน์และอำนาจ มากกว่ารักชาติด้วยหัวใจ”

ภาพของชายผู้กำลังจะหมดลมหายใจในสายน้ำสีเลือด เขาพร่ำบอกถึงความเจ็บแค้นที่ไม่อาจทำไรได้มากกว่า พาตัวเองและคนอีกสี่ร้อยมาตาย ภาพนี้ถูกตัดมาฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประหนึ่งจะตอกย้ำให้คนดูได้เห็นถึงจุดจบของคนดีในสังคม ซึ่งบางครั้งมันทำให้รู้สึกว่า เป็นการตัดต่อที่น่าเบื่อและเรียบเรื่อย หากจะดำเนินเรื่องเร็วกว่านี้ ดูเป็นภาพยนตร์มากกว่านี้ก็คงจะดีมิใช่น้อย และน่าจะทำให้คนที่ได้ดู รู้สึกฮึกเหิมและรักบ้านเมืองตัวเองได้มากกว่านี้ ไอเดียของการทำเป็นสีขาวดำ (จะเป็นสีเฉพาะบางสิ่งที่ต้องการขับเน้นเท่านั้น) เน้นความหม่นของท่วงทำนองเพลงประกอบ และบทสนทนาอันคมคายกินใจ หากแต่หลายครั้ง บทสนทนาก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า และดูจงใจมากเกินพอดีไปนิด

แต่ในฐานะเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาใน อ.วิเศษชัยชาญ และได้ยินชื่อนี้มาแต่เด็ก แม้จะตัดต่อได้เมื่อยมาก แต่ก็เต็มตื้นซาบซึ้งในหัวใจ


ชื่อภาพยนตร์ : วีรชนคนถูกลืม ตอน ขุนรองปลัดชู
ผู้กำกับภาพยนตร์ : สุรัสวดี เชื้อชาติ
ผู้เขียนบทและออกแบบงานสร้าง : เอก เอี่ยมชื่น
ผู้กำกับภาพ : ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์
ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ : บุญชัย เบญจรงคกุล
นักแสดงนำ : สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ,
สตูดิโอ/ผู้สร้าง : บีบี พิคเจอร์ส
เว็บไซต์ : http://thaiunsunghero.com/

ติดตามรายการ “ถกหนัง เห็นคน” ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ทุกวันจันทร์ 5 ทุ่ม เริ่มตั้ง 11 กรกฎาคม 2554 นี้เป็นต้นไป

PatSonic

บล็อกเกอร์ผู้ชอบดูหนังหลากแนว ฟังเพลงหลายสไตล์ มีเวลาว่างก็จะออกไปท่องเที่ยว บางเวลาก็หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หยิบซีรีส์ขึ้นมาดู แล้วก็จะหยิบมาเขียนให้ทุกคนได้อ่านกัน

1 คอมเมนต์

  1. ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าดู รองจากตำนานสมเ็ด็จพระนเรศวรฯ ล่ะครับ

Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Adblock Detected

เนื่องจากบล็อกนี้อยู่ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อผู้เยี่ยมชม รบกวนไม่ใช้ Ad Blocker เพื่อการเยี่ยมชมที่สมูธครับ