"เทศกาลดนตรีอัลเทอร์เนทีฟไทย" ล้มเหลวเพราะอะไร?

เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ (28 และ 29 ก.ค. 50) ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปมีส่วนร่วมอยู่ใน งานเทศกาลดนตรีที่น่าสนใจมางานหนึ่งครับ งานนั้น เป็นงานที่รวมเอาศิลปินที่เคยอยู่ในช่วงอัลเทอร์เนทีฟครองเมือง มาร้องและเล่นบนเวทีเดียวกัน ไม่น่าเชื่อว่า มันผ่านมา 10 ปีกว่าแล้ว นานมากทีเดียว…

เทศกาลดนตรีอัลเทอร์เนทีฟไทย

งานนี้จัดขึ้นที่ บางกอกฮอลล์ สวนลุมไนท์บาซาร์ 2 วันติด คอนเซ็ปต์งานนั้นน่าสนใจทีเดียว ไม่เคยมีใครคิดจัดงานแบบนี้เลย จนเวลามาผ่านมาเป็น 10 ปี แล้ววันหนึ่ง ก็มีคนคิดจัดขึ้น พวกเขาคือ กลุ่มคนที่จัดงาน โคตรอินดี้” นั่นเอง

วันเสาร์ ผมไปงานและอยู่แค่ช่วงแรก เพื่อแจกบัตรที่เอามาเล่นเกม เสร็จภารกิจผมก็กลับ ปล่อยให้น้องๆ เข้าไปเก็บภาพแทน และสังเกตเห็นว่า คนมางานนี้น้อยมาก แต่ก็คิดในทางที่ดีว่า คนคงทะยอยๆ มากัน

วันอาทิตย์ สี่โมงเย็น ผมไปที่งานอีกครั้ง วันนี้ ผมจะอยู่กับงานจนคิวสุดท้าย รอเวลาอยู่สักพักก่อนจะเข้าไปข้างใน และพบกับพื้นที่ว่างๆ ของฮอลล์ ซึ่งต่างจากปกติที่จะมีเก้าอี้วางเรียงเต็ม ผู้คนเริ่มทะยอยเข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็พบว่า ไม่ถึงครึ่งฮอลล์ดีนักที่มีคนนั่งอยู่ นอกนั้นเป็นพื้นที่ว่างๆ มืิดๆ ยาวไปจนถึงประตูด้านหน้า

คนให้ความสนใจในงานนี้กันน้อยขนาดนี้เลยหรือนี่…?

คอนเสิร์ตครั้งนี้ เริ่มขึ้นหลังหกโมงเย็นไปกี่นาทีไม่ทราบได้ เพราะผมไม่ได้ดูเวลาแล้วในช่วงนั้น คอนเสิร์ตเล็กๆ ของกลุ่ม Room Sing ผมนั่งแหงนหน้านั่งดูจอวิดีโอขนาดใหญ่บนเวที เป็นบทสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ เกี่ยวกับงานครั้งนี้ ก่อนจะเป็นช่วงเวลาของเพลงสรรเสริญพระบารมี และตามมาด้วยการทำหน้าที่ของพีธีกรของงาน พล่ากุ้ง จากนั้นถึงจะเป็นการแสดงของวงต่างๆ เรื่อยไปจนจบงาน

แต่ละโชว์สร้างความประทับใจให้กับทั้งคนดูคนเล่นไม่น้อย ด้วยเพราะเพลงต่างๆ ที่เล่นนั้น ก็เป็นเพลงในยุคนั้นเสียส่วนใหญ่ ที่ส่วนมากก็ไม่ค่อยได้เล่นกันนัก บางวงนี่หายไปจากวงการเรียบร้อย เรื่องที่จะได้ดูคงไม่ต้องพูดถึง ศิลปินก็อิ่มเอมใจเมื่อมีคนร้องตามได้ แสดงว่าพวกเขาไม่เคยจางหายไปจากใจของคนที่เติบโตอยู่ในยุคนั้น

แต่เหตุใดงานต้องจบลงอย่างเครียดๆ … เมื่อคุณเฮง คนจัดงาน ออกมาพูดด้วยเสียงเครือๆ

“… ปี 2537 เป็นปีที่วงการเพลงไทยมีค่ายเพลงเกิดขึ้นมากที่สุด ปี 2550 เป็นปีที่ค่ายเพลงกำลังปิดตัวลงมากที่สุด”

“… ปี 2537 เป็นปีที่วงการเพลงรุ่งเรืองถึงขีดสุด ปี 2550 เป็นปีที่วงการเพลงไทย…แย่ที่สุด

งานครั้งนี้ไม่บรรลุอย่างที่หวัง เมื่อดูจากจำนวนคนดูที่ต้องเรียกว่า “น้อยมาก” กับความผิดหวังตั้งแต่ช่วงของการเดินไปสปอนเซอร์ ที่เดินเข้าไปกี่รายๆ ก็ไม่มีรายไหนเอา มีเพียง สสส. ที่เคยช่วยงานกันไว้เจ้าเดียวที่เป็นสปอนเซอร์ นอกนั้นก็เป็นสื่อต่างๆ ที่ร่วมโปรโมต ขณะที่ศิลปินต่างๆ ก็มีการชักชวนกันมาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นงานนี้ขึ้น ด้วยราคาบัตรที่ถือว่าไม่แพง 300 บาทสำหรับ 1 วัน 500 บาทสำหรับ 2 วัน ถ้าเฉลี่ยเป็นวงก็คงเหลือวงละไม่เกิน 20 บาท

สุดท้ายตอนจบ ก็ต้องบอกกับผู้ชมที่ยังอยู่ทุกคนว่า วันนี้ ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากจะทำ เพราะงานนี้ “ขาดทุน” ครับ พวกเขาหยิบเอาเสื้องาน ป้าย และโปสเตอร์ ที่ทีมงานล่าลายเซ็นของศิลปินเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกสำหรับตัวเองออกมาประมูล

บรรยากาศดำเนินไปอย่างเคร่งเครียด มีผู้ชมงานร่วมประมูลในมูลค่าที่สูงอย่างมากเพื่อช่วยผู้จัดงานเอาไว้ พร้อมทั้งรับบริจาคที่ทางออกเพื่อรวบรวมเงินไปจ่ายค่าต่างๆ ที่จ้างเขามา ตั้งแต่ดูคอนเสิร์ตมา ผมไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้เลยสักครั้ง ครั้งนี้คงเป็นครั้งแรกเลยแหละ แต่สำหรับทีมงาน พวกเขาเคยเจอเรื่องแบบนี้มาแล้ว ในการจัดคอนเสิร์ตโคตรอินดี้หลายๆ ครั้ง

แต่งานนี้มันใหญ่โตมากกว่านั้นเยอะนะครับ…

ผมเดินออกมาด้วยการบริจาคเงินลงในกล่องด้วยแบงก์ร้อยใบเดียวในกระเป๋า เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาช้อปซีดีเก่าๆ ในงาน ผมได้ช้อปซีดีไปเพียงชุดเดียวเท่านั้นก็หมดปัญญาช้อปต่อ เมื่อตังก์หมดกระเป๋า ผมก็เดินไปหาตู้เพื่อกดเอทีเอ็ม แล้วเรียกแท็กซี่…

กลับบ้าน…

———————-

ถ้าจะลองวิเคราะห์ถึงความล้มเหลวของการจัดงานครั้งนี้ คงเรียกได้ว่า มีหลายข้อทีเดียวที่พอจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว

– วันจัดงาน 28 และ 29 ก.ค. 50 เป็นช่วง long weekend จากวันหยุดอาสาฬหบูชา และเข้าพรรษา แน่นอนว่า คนน่าเลือกไปเที่ยวต่างจังหวัดกันมากกว่าจะมาดูคอนเสิร์ต เรียกได้ว่า เลือกวันจัดงานผิดนั่นเอง

– นอกจากนี้ การที่วันหยุดมันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา งดเหล้างดยากัน ไม่มีใครมาดูคอนเสิร์ตแล้วไปแฮงต่อไม่ได้ อันนี้ อาจจะสำหรับบางคนนะ เพราะผมไม่แคร์เรื่องเหล้ายาปลาปิ้งอยู่แล้ว

– การจัดงานใหญ่ แต่อ่อนในด้านประชาสัมพันธ์ ถือว่ามีผลอย่างมากต่อจำนวนคนดู และเสี่ยงอย่างมากต่อการขาดทุน ยิ่งไม่มีสปอนเซอร์อย่างนี้ยิ่งเสี่ยงหนัก แต่ผู้จัดยังต้องเดินหน้าต่อ เพราะทุกอย่างมันเริ่มไปแล้ว

– การจัดคอนเสิร์ตรำลึกความหลังแบบนี้ ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย คอนเสิร์ตของวงดังในอดีตส่วนใหญ่ทำแล้วประสบความสำเร็จ แต่นั่นก็ต้องประกอบด้วยการตลาดที่เข้มแข็ง การโปรโมตที่ปูพรม และตัวศิลปินกำลังสุกงอมได้ที่กับการเรียกอารมณ์ร่วม เพราะต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า คนมาดู ไม่ได้เป็นวัยรุ่นอีกแล้ว โตขึ้น ทำงานทำการ มีเมียมีผัวมีลูก กันไปหมดแล้ว จะให้มากระโดดเย้วๆ เหมือนวันเก่ามันชักจะยากแล้ว

แม้คอนเซ็ปต์มันดี แต่มันเป็นปัญหาว่า คนพวกนั้น จะเหลือรอดมาเป็นพวกที่ยังรักเสียงเพลงและการดูคอนเสิร์ตแบบวันเก่าอยู่สักเท่าไหร่ นั่นละเป็นปัญหา

ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั้น อาจเป็นปัญหาส่วนตัวซึ่งผมไม่อาจล่วงรู้ได้ แต่เท่านี้ ก็คงพอจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ความล้มเหลวของงานนี้ไดพอสมควร

ที่เหลือคงต้องเก็บไว้เป็นบทเรียนในการจัดงานในครั้งต่อๆ ไป ขอลงท้ายเอาไว้ตรงนี้ว่า

———————————

“ผมชอบคอนเซ็ปต์งานครั้งนี้มากๆ ผมชื่นชมมากๆ ที่พวกคุณคิดจะจัดมันขึ้นมา คนตัวเล็กๆ ที่อยากทำฝันของตัวเองให้เป็นจริง ไม่ว่างานนี้จะผิดพลาดยังไงก็ตาม ผมขอเลือกที่จะไม่ใส่ใจมัน”

Exit mobile version