จิปาถะ

สื่อไทย ควรตระหนักเรื่องการเขียนภาษาไทยให้ถูกต้อง

วันนี้ มาว่าด้วยเรื่องหนักๆ สักนิดนึง ในฐานะที่ผมเองก็ประกอบสัมมาอาชีพในลักษณะสื่อคนหนึ่ง และพบเห็นการเขียนและใช้ภาษาไทยอย่างไร้ความรับผิดชอบของคนไทยมาเยอะ คนทั่วไป อาจจะเห็นว่า เป็นการเล่นสนุกกับภาษา แต่บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่า ตัวเองเขียนตามที่คนอื่นเขียนผิดอยู่

คนเราเดี๋ยวนี้ อยู่ในยุคของการบริโภคอะไรที่มาไวไปไว และอะไรที่ง่ายๆ คนไทยขวนขวายน้อยครับ รอแต่จะถูกป้อน หรือรอให้คนอื่นหามาให้ ทำได้แค่เพียง “ขอ .. ขอ … และขอ” เมื่อได้รับมาแล้วก็มักเชื่อเอาตามนั้น ไม่ได้ไตร่ตรองมากสักเท่าไหร่

สะกดไทย

เวลาใครเขียนไทยผิดๆ เราก็จำมาใช้ผิดๆ เพราะเราไม่เคยตระหนักความสำคัญของภาษาชาติตัวเอง เราใส่ใจแค่สื่อสารกันได้ก็พอ ผลก็เลยกลายเป็นว่า ปัจจุบัน เชื่อว่ามากกว่า 80% เขียนไทยผิด สะกดไทยผิด บางรายอาจหนักถึงขั้นอ่านไทยผิด

ถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไป ภาษาไทยจะคงมีหลักมีการอยู่มั้ยครับ มันจะเป็นกลายเป็นว่า พจนานุกรมไม่มีความหมาย ใครใคร่เขียนอย่างไรก็เขียน เผลอๆ อาจไม่มีใครใช้อีกแล้วภาษาไทย เพราะทุกคนบอกว่า “มันยาก” เลยเปลี่ยนไปใช้ภาษาอื่นซะ

เขียนมาหลายย่อหน้า แต่ไม่เข้าเรื่องสักที

ผมกำลังจะบอกว่า สื่อไทยในยุคนี้ก็ทำตัวไม่ต่างจากคนรับสื่อเหมือนกันครับ สื่อไทยยังเขียนไทยสะกดไทยกันผิด แล้วก็ยังไม่รู้ตัว และยังไม่แก้ไขอีกด้วย

เอาง่ายๆ แค่สื่ออินเตอร์เน็ตนี่แหละ แต่ละวัน มีคำที่เขียนผิดกันออกมาเท่าไหร่ ไม่มีการตรวจทานเหมือนหนังสือพิมพ์ ไม่มีคนตรวจการสะกดเหมือนหนังสือในสำนักพิมพ์ ต้องการความเร็วก็พ่นมันออกมา พ่นมันออกมา นี่ยังไม่นับข้อมูลที่อาจตกหล่นผิดพลาดจากการไม่ตรวจทานซ้ำสอง

“เพราะเราเป็นสื่อ”

ไม่อยากจะ capture หน้าจอเอาลงมาประจาน เพราะมันคงไม่สนุก ถ้าต้องไปเป็นศัตรูกับใคร ผมพยายามจะบอกน้องๆ ของผมว่า เพียรสะกดให้ถูก เพียรตรวจทานความถูกต้องของการสะกดและข้อมูลอีกครั้ง หลายครั้งเช่นกัน ที่ผมต้องไปนั่งแก้ไขทีหลังด้วยตัวเอง

หลายครั้ง เราก็พบว่า บางคำที่สื่อน่าจะเขียนถูก ก็กลับเขียนผิดเสียอย่างนั้น บนตัวข่าวเองก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง ที่คนเขียนข่าวสะกดเหมือนเด็กผู้ไม่ช่ำชองภาษาไทย ต้องให้คนอ่านมาเขียนด่า ว่าเป็นสื่อยังไง สะกดก็ยังผิด

ผมพบว่า การโปรโมตตัวเองผ่าน Social Bookmark ก็ไม่ต่างกัน ผมมองว่า Social Bookmark ก็ไม่ต่างอะไรกับสื่อนัก และเป็นที่ที่สื่อจะมาโพสต์เองด้วยซ้ำไป แต่ก็มักพบว่า สื่อเองด้วยซ้ำที่สะกดผิด

  • “พากย์” ใช้กับพากย์หนัง สื่อบางคนก็ยังใช้ผิดว่า “พากษ์หนัง” เพราะไปสับสนก็คำว่า “วิพากษ์วิจารณ์”
  • “สังเกต” หลายคนยังใช้ “สังเกตุ” กันอยู่เลย เพราะไปสับสนกับคำว่า “สาเหตุ”
  • “คะ” กับ “ค่ะ” มักใช้สับที่กันประจำ
  • “วะ” กับ “ว่ะ” ก็ไม่ต่างกัน หลายคนอาจสงสัย นี่เป็นภาษาไทยในสื่อหรือ ต้องขอบอกว่า “ใช่” ครับ
  • ยังไม่พอ ยังมี “ละ” กับ “ล่ะ” อีกด้วย
  • สองข้อข้างบน ยังมีบางสื่อใช้ “หวะ” “หละ” อีกต่างหาก
  • สื่อไทยมีปัญหากับการสะกดไม่พอ ยังมีปัญหากับการผันอีกด้วย
  • บางครั้งการทับศัพท์ก็มักทับไม่หมด ตัวอักษรบางตัวที่ควรมีอยู่ก็หายไป
  • ยังมีอีก แต่พอดี ไม่ได้จดไว้ เอาแค่นี้ก่อนแล้วกัน

ขนาดสื่อยังไม่มีความรู้ภาษาไทยเพียงพอ แล้วจะหวังให้คนไทยทั่วไปสะกดถูกได้อย่างไร

อนาคตภาษาไทยจะวางไว้ที่ใคร เมื่อไม่มีใครตระหนักในหน้าที่ของตน

—————————————–

ปล. การเขียนบทความในทำนองนี้กับคนไทย อาจจะนำพาหอกมาทิ่มแทงตัวเอง เพราะหลายคนอาจมานั่งจับผิดผม แทนที่จะนั่งมองดูตัวเอง ถ้าผมเขียนหรือสะกดคำไหนผิด แจ้งเข้ามาได้ครับ ยินดีน้อมรับคำวิจารณ์ และพร้อมจะแก้ไขหากผิดจริงครับผม

—————————————–

ลิงก์เพิ่มเติม

PatSonic

บล็อกเกอร์ผู้ชอบดูหนังหลากแนว ฟังเพลงหลายสไตล์ มีเวลาว่างก็จะออกไปท่องเที่ยว บางเวลาก็หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หยิบซีรีส์ขึ้นมาดู แล้วก็จะหยิบมาเขียนให้ทุกคนได้อ่านกัน

14 คอมเมนต์

  1. เห็นด้วยกับแนวคิดและปัญหาครับผมจึงอยากสานต่ออย่าลืมแวะไปอ่านน่ะครับ อยากขอเพิ่มบล็อกของคุณไว้หน่อยครับ ถ้าอนุญาตก็คอมเม้นต์ที่ http://www.zealbloging.com ครับ

  2. และสื่อควรไปเลี้ยงกวางเอ้ยไม่ใช่ แรงไป……

    แทนที่สื่อจะเป็นผู้นำในการใช้ภาษาให้ถูกต้อง เฮ้อ…..กลับใช้ผิด แต่จะบอกให้อีกอย่างครับว่า สื่อชอบตีคำไทยให้มีความหมายเพี้ยนไป เช่น คำว่าลงแขก ตามปกติหมายถึง การร่วมกันลงแรงเก็บเกี่ยวข้าว แต่นักข่าวไปใช้ความหมายในทางผิดๆ วันที่สามแพ่มอะไรกันไม่รู้เรื่องเสรีภาพสื่อ ไม่เข้าใจเลยครับ ไม่มีใครไปคุกคามสื่อเลย

  3. ขออภัย ถ้าจะต้องบอกว่า “อนุญาติ” ก็ผิดนะครับ เพราะจริงๆ ต้องเขียนว่า “อนุญาต” ครับผม
    “แพ่ม” แปลว่าอะไรเหรอครับ Mekz อิอิ ศัพท์ใหม่รึเปล่า?

  4. อีกเยอะครับ ตัวอย่าง
    โน๊ต ที่ถูกต้องต้องเขียน “โน้ต”
    ลำใย ที่ถูกต้องต้องเขียน “ลำไย”
    ลายเซ็นต์ ที่ถูกต้องต้องเขียน “ลายเซ็น”
    ฑีฆายุโก ที่ถูกต้องต้องเขียน “ทีฆายุโก”
    ฯลฯ

    บางคำคนเขียนถูกต้องน้อยมาก เนื่องเพราะเคยเห็นแบบอย่างที่ผิด ๆ มาโดยตลอด

  5. ปัญหาน่าจะอยู่ที่คำบางคำไม่ได้ใช้เป็นประจำ เลยทำให้เกิดความสับสน ซึ่งสามารถแก้ไขโดยการที่พวกเราช่วยกันท้วงติง และผู้ที่ถูกท้วงติงควรเปิดใจยอมรับ แต่ถ้าเป็นคำที่ใช้เป็นประจำหรือการคิดคำแผลงๆ ก็ไม่สมควร การสะกดผิดไม่ได้เป็นเฉพาะของไทยเท่านั้น ภาษาอังกฤษก็มีให้เห็นบ่อยๆ แม้แต่ใน website ใหญ่ๆ เช่น CNN ถ้าพวกเราลองสังเกตดูก็จะพบเช่นกันครับ
    Blog ของผมก็มีเขียนผิดบ้างเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ระวังแล้ว แต่บางครั้งก็เผลอไปเพราะมั่นใจในฝีมือพิมพ์ดีดของตัวเองเกินไป แต่ผมยินดีรับคำทักท้วง โดยไม่ขัดข้องใจ 100% ครับ

  6. เห็นด้วยๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ อย่างที่สุดค่ะ
    เชื่อรึเปล่าว่า…ขนาดบางคนอ่านคำที่คุณยกตัวอย่างขึ้นมาแล้ว
    ยังถามอีกว่า… “แล้วสะกดแบบนั้นมันต่างกันยังไง??”
    -_-”

    เช่น ค่ะ คะ … วะ ว่ะ… การผันวรรณยุกต์กลายเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทย
    เพราะเราเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก อาศัยความเคยชินกันไป….

    ในฐานะที่สอนภาษาไทยให้คนต่างชาติ
    มักจะเจอคำถามจากนักเรียนบ่อยๆ
    เช่นบางทีเขาไปทานอาหารตามร้าน ในเมนูก็เขียนหรือสะกดชื่ออาหารผิด เป็นต้น

    เราควรเริ่มแก้ไขที่ไหนกันดีคะเนี่ย??
    อย่างน้อยๆ ก็เริ่มที่ตัวเองก่อนละกันเนอะ ^o^

  7. คอมเมนต์ของ YbN สร้างแรงบันดาลให้ผมอย่างมากเลยครับ วันหลังจะจับมาเขียนถึงอีก อิอิ ขอบคุณครับ

  8. อยากเห็นภาพหน้าจอที่จับไว้อะค่ะ ส่งมาให้หน่อย

    สำหรับไนซ์ ถ้าเขียนเป็นคำไทยมั่นใจว่าเขียนถูก คำไหนไม่แน่ใจจะเปิดพจนานุกรม(ในเน็ต)ทุกครั้ง

    คำทับศัพท์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับคอม) ยึดตาม blognone.com

    แต่เรื่องพูด/เขียน ไทยคำอังกฤษคำ ตอนนี้ความกระแดะมันลุกลามไปไกลเกินแก้แล้วค่ะ (ด้วยสิ่งแวดล้อมและอะไรหลายๆอย่าง ^_^; )

  9. ทุกวันนี้ผมเอง ยังไม่ค่อยแน่ใจเลยว่า คำที่ผมเขียนๆอยู่ใน Blog หรือ Comment ในที่ต่างๆ จะถูกหรือไม่ เพราะหลายๆคำจำมาจากสื่อต่างๆ อย่างที่คุณ Pat ว่าไว้ ลองถามเพื่อนๆใน Office ก็ตอบไปคนละอย่าง ท้ายสุดต้องอาศัยพจนานุกรม ทำให้แน่ใจได้มากกว่า

    ชอบเรื่องนี่ของคุณ Pat จริงๆเลย เหมือนช่วยเตือนให้เราระวังเรื่องการใช้ภาษาไทย

  10. ตอบ SE7EN: ผมไม่อยาก capture หน้าของใครมาประจานนักครับ ไปๆ มาๆ จะเป็นการสร้างศัตรูไปเปล่าๆ เลยขอแค่หยิบยกสิ่งที่พบเจอมาบอก ขออภัยที่ไม่อาจทำอย่างที่ต้องการได้ หากสื่อใดได้เข้ามาอ่านเจอ แล้วรู้ตัว เขาก็อาจจะแก้ไขของเขาเองครับ ซึ่งคนไทยก็อาจได้อานิสงส์ไปด้วย

    ตอบ Maximumboy: บางครั้ง ผมก็มีคำที่ไม่มั่นใจเหมือนกันครับ ถ้าสงสัยตัวเอง ก็มักหาข้อมูลก่อน แต่ก็ยังพอมีบ้าง บางครั้งมันก็เล็ดรอดไป ไม่ได้ตรวจทานบ้าง ผิดเพราะเคยชินบ้าง แต่ตระหนักอยู่ตลอดว่า ต้องเขียนให้ถูก จะไม่จริงจังกับเรื่องนี้มากนัก ก็เฉพาะตอนเล่นเอ็มเท่านั้นครับ

  11. อยากจะบอกว่า ตัวขนมเองก็มีหลายครั้งที่เขียนผิด อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้เป็นนักเรียน จึงไม่มีใครว่าเวลาเขียนผิด จำได้ตอนเด็กเวลาสะกดผิดอาจารย์จะวงด้วยปากกาสีแดง – -*

    ตอนนี้เริ่มสับสนหลายคำเลย ตอนเด็กจะมีพจนานุกรมภาษาไทยเล็กเล็กๆสีน้ำเงิน แต่พอโตยกให้น้องไปแล้ว ว่างๆจะไปซื้อมาติดตัว ตั้งแต่ไม่ได้เป็นนักเรียนรู้สึกภาษาไทยจะถอยหลังลงคลอง แพ้น้องๆป.4ไปแล้ว

    ขอบคุณคุณแพทด้วยคะ ที่อัพเรื่องนี้ เพราะหลายมีคำที่เผลอไป ลืมไปบ้าง บางครั้งเห็นคนอื่นใช้+ตัวเองก็ใช้จนชินก็เลยผิดพลาด

    ต้องกลับไปแก้ในบล็อกแม่จ๋าเพียบเลย

  12. มันก็เป็นอะไรที่น่าหงุดหงิดจริงๆล่ะครับ เวลาอ่านแล้วเราต้องมาสะดุดกับคำที่น่าจะมองผ่านๆไปได้ เมื่อเช้าก็พึ่งเจอคำว่า เสิร์ฟ ที่สะกดเป็น เสริ์ฟ ไป .. เล่นเอามึนไปเลย กับคำขึ้นป้ายแบบนี้

    คำไทยหลายๆคำที่เขียนผิด แต่กลายเป็นถูกเพราะครูผู้ใหญ่เขียนผิดไว้ก็มีอยู่เยอะ

    ไปๆมาๆ ทุกอย่างมันก็ขึ้นอยู่กับความ”ขี้เกียจ”ของคนนั่นแหละครับ ไม่อยากตรวจสอบตรวจทานให้ดีก่อน พอสื่อใช้ให้เห็นกันเยอะๆเข้า ก็กลายเป็นค่านิยมที่ผิดในการใช้ภาษาวิบัติ แล้วยิ่งมีอินเตอร์เน็ต มี blog ยอดนิยมที่เขียนคำพวกนี้ผิดอยู่อีก มันก็ยิ่งเป็นการเผยแพร่ภาษาผิดๆออกไป

    ผมว่าสรุปสุดท้ายแล้ว มันก็อยู่ที่เราจะพิถีพิถัน กับภาษาให้มากขึ้นอีกนิด รอบคอบให้มากขึ้นอีกหน่อย (ยิ่งคนที่จิ้มดีดด้วยแล้ว ไม่น่าจะพิมพ์ผิดแล้วนะ หึหึ)

    ปล. ผมไม่ได้บอกว่าผมไม่เคยเขียนผิดนะ

  13. เราเห็นด้วยที่ควรจะเขียนให้ถูกต้องเดี๋ยวนี้ใช้คำใหม่ ๆ เราตามไม่ทันเลย

  14. ตอนนี้เริ่มสับสนหลายคำเลย ตอนเด็กจะมีพจนานุกรมภาษาไทยเล็กเล็กๆสีน้ำเงิน แต่พอโตยกให้น้องไปแล้ว ว่างๆจะไปซื้อมาติดตัว….Thank ja.

Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Adblock Detected

เนื่องจากบล็อกนี้อยู่ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อผู้เยี่ยมชม รบกวนไม่ใช้ Ad Blocker เพื่อการเยี่ยมชมที่สมูธครับ