Cartoon, Comic, Animation และ Anime ต่างกันยังไง?

บางครั้งบางที เราก็พบว่า เวลาไปอ่านบล็อกโน้นบล็อกนี้ มีการใช้คำบางคำที่สับสน พาให้คนอ่านเข้าใจผิดไปหลายหนทีเดียว วันนี้ เลยหยิบเรื่องนี้มาเขียนถึงสักหน่อย

Cartoon กับ Comic

สมัยเด็กๆ เวลาเปิดดูทีวีช่อง 9 ป้าก็มักจะเรียกว่า “การ์ตูน” เพราะในทีวีเขาก็เรียกมันว่า “การ์ตูน” เวลายืมเพื่อนมาอ่าน ก็เรียกมันว่า “หนังสือการ์ตูน” เช่นกัน

โตมา เริ่มรู้สึกว่า เริ่มมีคำหลายคำที่ถูกนำมาใช้จำกัดความหมายของการ์ตูนมากขึ้น การ์ตูนที่เป็นภาพเคลื่อนไหวในทีวีนั้น เริ่มจะถูกเรียกว่า แอนิเมชั่น กันมากขึ้น แต่ก็ยังมีการเรียกกันง่ายๆ ว่าการ์ตูนอยู่พอสมควร

สรุปว่า “การ์ตูน” หรือ “Cartoon” เป็นคำที่มีความหมายกว้างๆ หมายถึงอะไรที่ใช้คนวาด ไม่ว่าจะวาดด้วยมือ หรือวาดด้วยคอมพิวเตอร์ก็ตาม จะเป็นภาพนิ่งๆ หรือเป็นภาพเคลื่อนไหวก็ตาม ทั้งหมดเรียกว่าการ์ตูนได้หมด

ส่วน “Comic” หรือ “คอมมิค” ก็เป็นคำที่มีความหมายจำเพาะลงมาหน่อยหนึ่ง คือ จะหมายเอาเฉพาะ หนังสือภาพการ์ตูนเท่านั้น ลักษณะเป็นภาพการ์ตูนที่วางอยู่ในช่อง (บ้างก็เรียก การ์ตูนช่อง) จะสี จะขาวดำ ก็เรียกคอมมิคได้เสมอ เพราะฉะนั้น คอมมิคจะเป็นแค่ภาพนิ่งเท่านั้น จะวาดด้วยคอมพ์แล้วนำมาปริ๊นต์ลงกระดาษ และเย็บเป็นเล่มๆ ก็คอมมิคคือกัน

สำหรับหนังสือการ์ตูนช่องที่มาจากญี่ปุ่น จะถูกเรียกว่า “Manga” หรือ “มังงะ” ผมเริ่มรู้จักคำนี้ จาก “Manga Katch” นิตยสารวัยรุ่นแนวญี่ปุ่นจาก BeboydCG นี่แหละ

มาถึงภาพเคลื่อนไหวกันบ้าง…


แล้ว Animation ล่ะ

ก็อย่างที่รู้กันว่า เดี๋ยวนี้ เราใช้คำว่า “แอนิเมชั่น” หรือ “Animation” กันเยอะขึ้น (บางคน ใช้ “อนิเมชั่น”) แต่มันหมายถึงอะไรกันบ้างล่ะ?

ความหมายของมัน ค่อนข้างจะกว้างเหมือนกันนะ เพราะมันหมายรวมทุกอย่างที่เกิดจากการใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวของภาพ

ในกรณีที่สร้างภาพเคลื่อนไหวโดยใช้คอมพิวเตอร์ มันก็จะถูกเรียกอย่างจำเพาะว่า Computer Animation

แอนิเมชั่นกำเนิดขึ้นได้ทั่วโลก แม้แต่บ้านเรา ก็เกิดมีขึ้นมานานแล้ว ก่อนจะห่างหายคล้ายสาปสูญ จนปัจจุบัน มันได้กลับมาเกิดใหม่ ด้วยหนังแอนิเมชั่นจากคอมพิวเตอร์ “ก้านกล้วย” และหนังแอนิเมชั่นวาดมือเรื่องล่าของไทย “ประวัติพระพุทธเจ้า” ในเร็วๆ นี้ จะมีอีกเรื่องที่วาดและสร้างความเคลื่อนไหวด้วยคอมพิวเตอร์ นั่นคือ “นาก” (ผลงานหนังใหญ่เรื่องแรกของ BeboydCG)

ขณะที่ฮอลลีหวูดสร้างแอนิเมชั่นกันยกใหญ่ หลังถูกจุดประกายโดย ‘Toy Story’ หนังแอนิเมชั่นจากคอมพิวเตอร์ของ Pixar Animation เรามักพบว่า ฝั่งอเมริกามีแต่แอนิเมชั่นที่ทำขึ้นสำหรับเด็กดู จึงพบแต่แคแรคเตอร์ตัวเอกเป็นสัตว์เสียส่วนใหญ่ และมีเนื้อหาไม่ซับซ้อนนัก แต่ก่อนหน้านั้น พวกเขาเคยชินกับแอนิเมชั่น 2 มิติวาดมือที่โดดเด่นจาก Walts Disney มานาน ใครๆ ก็จำได้ติดตา โดยเฉพาะ Micky Mouse ทั้งหมดล้วนทำให้เด็กดูทั้งสิ้น

ส่วนฝั่งยุโรปก็เช่นกัน มีแอนิเมชั่นดีๆ ออกมามากมาย แต่ไม่ค่อยโด่งดังมากนัก มีลายเส้นและอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป แต่โดยรวมก็ยังเป็นหนังที่ทำให้เด็กดูเช่นเคย (หมายถึงกลุ่มเป้าหมายอะนะ)


ส่วน Anime นั้น

ขณะที่แอนิเมชั่นจากแดนอาทิตย์อุทัย ดูจะเป็นอะไรที่เด็กไทยคุ้นเคยมานาน โดยเฉพาะแอนิเมชั่นทางทีวี ที่คนไทยเรียกว่า “การ์ตูนทีวี” นี่แหละ มีเนื้อหาค่อนข้างรุนแรงในหลายๆ เรื่อง (ซึ่งเป็นแนวที่ทีวีไทยชอบนำเข้ามาฉาย เหอๆ) แต่หลายเรื่องก็มีเนื้อหาให้แนวคิดแฝงอยู่มากมายเช่นกัน ที่คุ้นเคยก็อย่าง Doraemon และอิกคิวซังเป็นต้น แต่นั่นเป็นซีรี่ส์แอนิเมชั่นทางทีวีเท่านั้น ยังมีแอนิเมชั่นหนังใหญ่อีกหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จสูงทั้งในและนอกประเทศ และมีเนื้อหาที่ซับซ้อน ทั้งแอนิเมชั่นทางทีวีและที่ฉายในโรงภาพยนตร์ล้วนมีลักษณะเฉพาะตัว จนถูกเรียกให้เป็นสาขาเฉพาะกันเลยทีเดียว

ใช่ครับ มันถูกเรียกว่า “อะนิเมะ” / “Anime” (บางคนใช้ว่า “แอนิเมะ”)

อะนิเมะ นี่คือภาพยนตร์แอนิเมชั่นจากญี่ปุ่น ที่ทำขึ้นเพื่อฉายในโรงภาพยนตร์บ้าง ฉายทางทีวีบ้าง เรื่องราวที่ค่อนข้างซับซ้อน มีปมขัดแย้งหลายปม และแฝงไว้ด้วยปรัชญา นี่คือจุดเด่นของอะนิเมะ ซึ่งต่างจากแอนิเมชั่นฝั่งฮอลลีหวูดและยุโรปอย่างชัดเจน อะนิเมะ จึงเป็นแอนิเมชั่นที่เป็นสาขาต่างหาก โดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง ทำไว้สำหรับคนทุกวัยที่มีวุฒิภาวะแล้ว นั่นคือ ส่วนใหญ่แล้ว มันไม่เหมาะกับเด็กนัก อะนิเมะชิ้นแรกๆ ที่โดดเด่น ก็อย่าง ‘เจ้าหนูปรมาณู’ หรือ ‘Astroboy’ ขณะที่ ‘Spirited Away’ ได้รับรางวัลออสการ์เป็นเรื่องแรกในบรรดาอะนิเมะ ส่วน ‘ดราก้อนบอล’ และ ‘เซเลอร์มูน’ เป็นอะนิเมะสำหรับเด็กที่ได้รับความนิยมสูง

ลายเรื่อง พูดถึงโลกในอนาคต หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ วิวัฒนาการของมนุษย์ หลายเรื่องพูดถึง สงคราม ความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์

ลักษณะแบบนี้ หาไม่ได้ในแอนิเมชั่นของอเมริกาและยุโรป…


เอาล่ะ วันหลัง ผมจะหยิบอะนิเมะที่ผมได้ดูมาเขียนถึงกันบ้าง หวังว่า คงจะอยากอ่านกันนะครับ

ปล. ถ้ามีข้อมูลใดขาดตกบกพร่อง ช่วยแจ้งกันเข้ามาด้วยนะครับ ความรู้น้อยแต่ดันอยากเขียน :P

Exit mobile version