รีวิวซีรีส์ Juvenile Justice หญิงเหล็กศาลเยาวชน | ความผิดนี้เป็นของใคร?

เรื่องราวของหญิงสาวแสนเย็นชาที่เป็นผู้พิพากษาคดีเยาวชนที่เกลียดชังเด็กผู้กระทำผิด

ในช่วงนี้ มีซีรีส์เกาหลีมากมายเข้ามาฉายในระบบสตรีมมิ่งบ้านเรา จนทำให้รู้สึกว่า ไม่น่าจะตามดูได้หมด คงต้องเลือกดูเฉพาะเรื่องที่สนใจก่อน ส่งผลให้ได้ดูซีรีส์บางเรื่องย้อนหลัง หรือตามหลังชาวบ้านเขา แต่ถึงกระนั้น ถ้าของมันดี เมื่อไหร่ที่ได้เปิดดูก็ต้องเกิดความรู้สึกอยากจะหยิบมาเขียนรีวิวแน่ ๆ อย่างเช่นกับเรื่องนี้ ‘Juvenile Justice’ ชื่อไทยว่า ‘หญิงเหล็กศาลเยาวชน’ ที่ Netflix ลงทีเดียว 10 ตอนรวด

ภาพจากซีรีส์เรื่อง ‘หญิงเหล็กศาลเยาวชน’

เรื่องราวของผู้พิพากษาหญิงที่มีท่าทีไม่ค่อยเป็นมิตรที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้พิพากษาศาลคดีเยาวชน ความน่าสนใจที่สร้างความขัดแย้งและก่อเกิดความสนใจใคร่รู้ก็คือ เธอเป็นคนที่เกลียดเยาวชนผู้กระทำ เธอเหมือนจะไม่เชื่อว่าพวกเขาจะกลับใจได้ แต่กลับเข้ามาเป็นผู้พิพากษาคดีที่เยาวชนกระทำการอันร้ายแรง

และเท่าที่ดู เธอก็ไม่ได้มีหน้าที่เพียงเป็นผู้พิพากษาเท่านั้นด้วย


เรื่องย่อซีรีส์ ‘Juvenile Justice’

ในเกาหลีใต้ คดีอาชญากรรมเกิดขึ้นมากมายไม่เว้นกระทั่งคดีที่เกิดจากเยาวชนผู้มีอายุไม่ถึง 14 ปี แม้พวกเขาจะก่อเหตุร้ายแรง แต่กฎหมายที่ใช้เอาผิดก็คนละเล่มกับที่ใช้กับคนที่โตเป็นผู้ใหญ่

และในเกาหลีใต้ มีผู้พิพากษาอยู่มากมาย แต่เพียงหยิบมือเท่านั้นมี่เป็นผู้พิพากษาคดีเยาวชน หนึ่งในนั้นคือ ผู้พิพากษาหญิงนาม ชิมอึนซอก (Kim Hye Soo/คิมฮเยซู จากซีรีส์ ‘Hyena’, ‘Signal’ และ ‘The Queen of Office’) ผู้ที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า เธอเกลียดชังเหล่าเยาวชนผู้กระทำผิด เธอตัดสินอย่างตรงไปตรงมาและไม่ปรานีเหล่าเด็กที่ทำผิดกฎหมายเหล่านั้น ซึ่งเป็นความคิดที่แตกต่างจากผู้ร่วมอย่างสิ้นเชิง

หญิงเหล็กศาลเยาวชน (Juvenile Justice) | ตัวอย่างซีรีส์อย่างเป็นทางการ | Netflix

ชาแทจู (Kim Moo Yul/คิมมูยอล จากซีรีส์ ‘Grid’, ‘My Beautiful Bride’ และหนังเรื่อง ‘Space Sweepers’) คือผู้พิพากษาชายที่ได้ทำงานอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้พิพากษาชิม เขาดูอ่อนโยนใจดี เป็นมิตรและให้ความสนิทสนมกับบรรดาเยาวชนเหล่านั้น แม้บางคนจะดูไม่เคยปรับปรุงตัวเองเลยก็ตามที

ทั้งคู่ต่างก็ได้ย้ายมาเป็นผู้พิพากษาศาลคดีเยาวชนประจำศาลในเขตยอนฮวา ภายในการนำของหัวหน้าคัง คังวอนจุง (Lee Sung Min/อีซองมิน จากซีรีส์ ‘Memory’, ‘Money Game’ และหนังเรื่อง ‘Real’) คนที่ออกสื่อบ๊อยบ่อย แถมกำลังถูกทาบทามให้เป็นสมัคร ส.ส. เขาต้องมารับมือกับผู้พิพากษาคดีเยาวชนที่โคตรเก่งแถมเกลียดเยาวชนคนทำผิดแบบนี้


รีวิวซีรีส์ ‘หญิงเหล็กศาลเยาวชน’

เริ่มต้นเรื่องด้วยการสร้างตัวละครหลักให้มีบุคลิกและความคิดที่ขัดแย้งกับหน้าที่การงานของตัวเอง ผู้พิพากษาศาลคดีเยาวชนที่ด้วยพื้นฐานแล้ว น่าจะเป็นคนที่เข้าใจหรือเชื่อใจในความอ่อนประสบการณ์ของเหล่าเยาวชน น่าจะมองเห็นและมุ่งหวังให้พวกเขาได้มีโอกาสกลับตัวกลับใจ แต่ก็ดูเหมือนผู้พิพากษาหญิงนามชิมอึนซอกคนนี้ จะไม่มีสิ่งนั้น

Kim Hye Soo ในซีรีส์ดรามาอาชญากรรม เรื่องJuvenile Justice

เธอถูกโอนย้ายมาทำงานร่วมกับผู้พิพากษาชาย ชาแทจู ที่ดูเป็นคนสุภาพและอ่อนโยนกว่า ทว่าก็เหมือนจะมีเบื้องหลังที่เจ็บปวดมาก่อน ส่งผลให้เขาเลือกจะมาทำหน้าที่ดูแลคดีศาลเยาวชน เขากลายเป็นเหมือนอีกขั้วหนึ่งที่จะเรียกว่า อยู่ฝั่งตรงข้ามกันก็ไม่เชิง แต่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าอยู่ฝั่งเดียวกัน หากเป็นอีกด้านที่คอยดึงสติให้ชิมอึนซอกได้มองเห็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่ควรจะเป็นของผู้พิพากษาคดีเยาวชน

ขณะที่หัวหน้าแผนกของทั้งสองเป็น คังวอนจุง คนที่ทำงานเป็นผู้พิพากษามายาวนาน 22 ปี และคิดจะหันเหตัวเองเข้าสู่รัฐสภาเพื่อทำอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่า เขาคือคนที่กำลังอยู่ระหว่างความคิดสองด้าน ทำทุกคดีให้เรียบร้อยที่สุด เพื่อปูทางสู่ความรุ่งโรจน์ใหม่ๆ ต่อไป

Kim Moo Yul กับบทผู้พิพากษา ในซีรีส์เรื่อง ‘หญิงเหล็กศาลเยาวชน’
Lee Sung Min ในซีรีส์แนวดรามาอาชญากรรม เรื่อง ‘หญิงเหล็กศาลเยาวชน’

ซีรีส์เรื่องนี้ อาจรู้สึกเคร่งเครียดระหว่างดูอยู่สักหน่อย เพราะมันกำลังเล่าถึงปัญหาสังคมที่เกิดกับเหล่าเยาวชนในประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้ว แต่เหมือนปัญหาของคนรุ่นนี้ยังคงไม่ได้รับการใส่ใจดูแลเพียงพอ มันพาเราไปรู้จักกับปัญหาทุกอย่างที่เกี่ยวกับอาชญากรรมในหมู่เยาวชน ทั้งเรื่องความรุนแรงภายในครอบครัว ยาเสพติด การค้าประเวณี ปัญหาในศูนย์ฟื้นฟู ไล่ไปจนถึงการทุจริตในโรงเรียน โดยบ่งชี้ว่าปัญหาส่วนใหญ่ในเด็กวัยรุ่นมันเกิดจากที่บ้าน หน่วยเล็กที่สุดของสังคมอย่างครอบครัวนี่แหละที่ก่อปัญหากันขึ้นมา

‘หญิงเหล็กศาลเยาวชน’ ทำให้รู้สึกว่า ผู้พิพากษาศาลเยาวชนนี่ทำหน้าที่หลายอย่างที่เกินคาดไว้มาก นอกจากออกนั่งบัลลังก์พิพากษา ยังต้องออกไปสืบหาความจริง แม้กระทั่งวิ่งจับเด็กเองเสียด้วย ไม่พอ ยังต้องคอยออกตรวจศูนย์ฟื้นฟูต่างๆ เอง [จนไปรับรู้ปัญหาอันยุ่งเหยิงนั้นด้วยตนเอง] แต่การเอาตัวลงไปเจอปัญหา ก็ทำให้เข้าใจอะไรๆ ได้กระจ่างขึ้นแหละเนอะ

ประสบการณ์ในคดีต่างๆ ที่ผู้พิพากษาชิมได้พบเจอด้วยตนเอง ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเธอ จากคนที่เย็นชา เกลียดชังในตัวเยาวชนผู้กระทำผิด-ก่ออาชญากรรม เริ่มจะมองพวกเขาอย่างเข้าใจมากขึ้น ทั้งการตัดสินแต่ละอย่างก็อาศัยการลงลึกไปเข้าใจอย่างแท้จริง ส่งผลให้การตัดสินเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นมากขึ้น ไม่ใช่เพียงการลงโทษไปตามความผิด แต่มองเห็นว่า ควรลงโทษใครแค่ไหน เพราะในฐานะที่เขายังเป็นเยาวชน คนอีกส่วนที่ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบก็คือผู้ใหญ่ที่แวดล้อมพวกเขานั่นเอง

โปสเตอร์ของซีรีส์ ‘หญิงเหล็กศาลเยาวชน’ เวอร์ชันไทย

เรื่องราวลงลึกไปถึงตัวผู้พิพากษาเองที่ก็อาจละเลยเมื่อคนใกล้ตัวมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือตัวพวกเขาเองที่ทุกข์ระทมจากอดีตจนกลายเป็นแรงผลักดันให้กลายมาเป็นผู้พิพากษาศาลเยาวชนในวันนี้ หลังจากดูซีรีส์เกาหลี ทำให้มองเห็นว่า ปัญหาการกระทำความผิดในหมู่เยาวชนนั้นล้วนเกิดขึ้นจากภายในครอบครัว พ่อแม่หย่าร้าง ทิ้งลูกอย่างไม่ใยดี ทำร้ายร่างกายลูก ให้ความสำคัญกับคนอื่นจนละเลยลูกของตัวเอง และอีกหลายๆ อย่าง

นับเป็นซีรีส์น้ำดีที่ควรค่าแก่การดู 10 ตอน ตอนละชั่วโมง…เท่านั้นเอง


รายละเอียดเกี่ยวกับซีรีส์

ชื่อซีรีส์Juvenile Justice / หญิงเหล็กศาลเยาวชน / 소년심판
ผู้กำกับHong Jong Chan/ฮงจงชาน (เจ้าของผลงาน ‘Her Private Life’)
ผู้เขียนบทKim Min Seok/คิมมินซอก
นักแสดงKim Hye Soo/คิมฮเยซู, Kim Moo Yul/คิมมูยอล, Lee Sung Min/อีซองมิน, Lee Jung Eun/อีจองอึน
แนว/ประเภทCrime, Drama
จำนวนตอน1 ซีซัน: 10 ตอน
ช่องทางรับชมNetflix
เริ่มออกอากาศ25 กุมภาพันธ์ 2022
ผู้ผลิต/เจ้าของลิขสิทธิ์GT:st, Gill Pictures, Netflix

หญิงเหล็กศาลเยาวชน

บทและพล็อต - 8.8
การดำเนินเรื่อง - 7.9
การแสดง - 8.8
เพลงและดนตรีประกอบ - 7
งานถ่ายและโปรดักชัน - 7.7

8

Juvenile Justice

ซีรีส์เกาหลีที่หลายคนกล่าวขวัญถึง Juvenile Justice หญิงเหล็กศาลเยาวชน เรื่องราวของหญิงสาวแสนเย็นชาที่เป็นผู้พิพากษาคดีเยาวชนที่เกลียดชังเด็กผู้กระทำผิด

User Rating: Be the first one !
Exit mobile version