ได้ยินข่าวเรื่องการพัฒนาหนังเรื่องใหม่จาก Riff Studio ที่เคยเป็นหนึ่งในทีมงานเบื้องหลังแอนิเมชันพันธุ์ไทยสุดลือลั่นอย่าง ‘9 ศาสตรา’ มาเมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้ สตูดิโอแห่งนี้ก็พร้อมแล้วกับงานชิ้นแรกที่หยิบวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมอย่าง ‘รามายณะ’ มาสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘นักรบมนตรา ตำนานแปดดวงจันทร์’
จากข้อมูลที่ได้ยินได้ฟังมา นี่คือหนังแอนิเมชันพันธุ์ไทย ที่ใช้เวลาในการสร้างนานถึง 4 ปี ทุ่มทุนสร้างด้วยเม็ดเงินถึง 200 ล้านบาท เท่าที่รู้คือ เดิมนั้นใช้ชื่อว่า ‘หนุมาน นักรบมนตรา’ (Hanumaan the Mantra Warriror) ก่อนจะถูกขยายและปรับเปลี่ยนชื่อเป็น ‘นักรบมนตรา’ ที่เริ่มต้นด้วยปฐมบทอย่าง นักรบมนตรา ตำนานแปดดวงจันทร์
และนี่คือ ผลงานหนังเรื่องยาวชิ้นแรกจาก RiFF Animation Studio
เรื่องย่อหนัง ‘นักรบมนตรา ตำนานแปดดวงจันทร์’
เรื่องราวของหนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากมหากาพย์รามายณะ (หรือรามเกียรติ์ ที่คนไทยรู้จักกัน) บอกเล่าเรื่องราวของมหาศึกสงครามระหว่างกองทัพแห่งองค์ราม กับจักรพรรดิทศกัณฐ์ ที่ต่อสู้กันมาอย่างไม่รู้จักจบสิ้นในมิติจักรวาลรามายณะ และในช่วงที่หนังเรื่องนี้จะเล่าถึงนั้น ทั้งองค์ชายราม องค์หญิงสีดาและองค์ชายลักษมัณ ต้องลี้ภัยทางการเมืองจากดวงดาวอโยเดียมุ่งหน้าไปที่ดวงจันทร์ sector 11
ตามตำนานเล่าขานกันว่า ในทุก 500 ปี พลังแห่งเทพที่สามารถทั้งสร้างและทำลายทุกสรรพสิ่งได้นั้น จะตื่นขึ้นมาในร่างของสตรีนางหนึ่ง ซึ่งทศกัณฑ์เชื่อว่าพลังอันยิ่งใหญ่นั้นกำลังหลับใหลอยู่ภายในร่างขององค์หญิงสีดา (พากย์เสียงโดย เบลล่า ราณี จากหนังเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส 2’) จึงได้ลักพาตัวนางขึ้นยานไปยังดาวลงกา ส่งผลให้องค์ชายรามและองค์ชายลักษมันตร์ต้องส่ง 3 นักรบที่อยู่ภายใต้การดูแลของสุครีพอย่าง วายุ, เวฬา และบุษบา ให้ออกติดตามค้นหาและนำตัวพระแม่สีดากลับคืน
ทว่า ภารกิจดังกล่าวกลับถูกขัดขวางจากราชาพาลีผู้มีพละกำลังอันมหาศาล เป็นแม่ทัพผู้แข็งแกร่งที่ไม่เคยพ่ายแพ้ในศึกสงคราม
นอกจากนี้ ยังมีอีกตำนานที่เรียกขานพวกเขาว่า นักรบมนตรา ผู้สามารถใช้พลังจากพรของเหล่าทวยเทพได้ ที่จะถือกำเนิดขึ้นในห้วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์ทั้งแปดแห่งดาววานาราเรียงตัวกัน…เท่านั้น
รีวิวหนัง ‘นักรบมนตรา ตำนานแปดดวงจันทร์’
ภาพยนตร์แอนิเมชันฝีมือคนไทยที่สามารถเอาไปอวดสายตาชาวโลกได้ว่า คุณภาพการสร้างของเราก้าวหน้าไม่แพ้ใคร หยิบเรื่องราวที่มีกลิ่นอายความเป็นไทยมาเป็นพื้นฐาน (แม้รามเกียรติ์จะเป็นวรรณกรรมขึ้นชื่อที่ปรากฏอยู่ในหลายชนชาติก็ตาม) แล้วต่อยอดด้วยการดีไซน์โลกของมันเสียใหม่ให้ดูไซไฟและแฟนตาซีแบบที่คนปัจจุบันจะชื่นชอบ แต่งเติมเรื่องราวให้มันมีแง่มุม มีเหตุและผลให้มากกว่าที่ปรากฎในเวอร์ชันวรรณกรรม
ตัวละครสำคัญต่างมากันครบ ทั้งพาลีพี่น้องกับสุครีพที่กลายเป็นคู่ต่อกร ทศกัณฑ์ยักษาผู้ฝักใฝ่ในตัวนางสีดา พระรามแลพระลักษณ์ คู่พี่น้องที่เป็นองค์ชายรามและองค์ชายลักษมันตร์ พร้อมกับมีเหล่านักรบเป็น วายุ เวฬา และบุษบา แถมจากภาพตัวอย่างที่ปรากฏออกมา คนดูจะได้เห็นหนุมานและนิลพัทออกวาดลวดลายการต่อสู้ในฐานะนักรบมนตราอีกต่างหาก
ถัดมาจากงานสร้างที่เข้าขั้นเทียบชั้นระดับสากล การเซ็ตโลกในหนังก็ยังน่าสนใจ เรื่องราวถูกขีดเขียนให้อาณาจักรในวรรณกรรมกลายเป็นดวงดาวต่างๆ ในจักรวาล อย่างเช่น ดาวลงกาที่เป็นที่อยู่ของทศกัณฐ์ ดาววานาราที่มีดวงจันทร์ทั้งแปดเป็นบริวาร ผสานความแฟนตาซีด้วยตำนานที่เล่าถึงพลังแห่งเทพที่จะสถิตในร่างสตรี และอีกหนึ่งพลังที่จะทำให้นักรบกลายเป็นนักรบมนตราเพื่อมาคุ้มครองสตรีผู้นั้น
แต่ทว่า หนังกลับรีบเร่งจนเกินไปในช่วงต้น ยังไม่ทันได้ปูเรื่องให้คนรู้สึกอินและเข้าใจในตัวละครได้มากพอ ก็พาพวกเขาไปเจอกับสงครามและการต่อสู้ สำหรับคนคุ้นเคยกับรามเกียรติ์มานาน อาจเก็ทได้ง่ายและอาจชื่นชอบได้มากกว่า บทหนังดูไม่ใส่ใจเล่าเรื่องราวของตัวละครเด่นที่จะกลายเป็นนักรบมนตราในช่วงหลัง มองไม่เห็นปมความขัดแย้งใดๆ มากพอ กลายเป็นคนดูไม่ได้ผูกตัวเองอยู่ตัวละครตัวไหน ไม่ได้รู้สึกอยากเอาใจช่วยตัวใด ได้แต่นั่งดูฉากสงครามที่จัดมาให้อย่างต่อเนื่อง
แม้กระทั่งในฉากต่อสู้เอง หลายครั้งก็เน้นการสาดใส่แบบไม่ยั้งมือของแต่ละฝ่าย เคลื่อนไหวรวดเร็วจนบางที ด้วยสายตาของคนเริ่มมีอายุก็อาจมองไม่ทันว่าตัวไหนเป็นฝ่ายไหนเหมือนกันนะ
ชอบใจในไอเดียการออกแบบชุดของแต่ละคาแรกเตอร์ มีทั้งเอกลักษณ์ของเดิม บวกเข้ากลิ่นอายความเป็นชุดสูทซูเปอร์ฮีโร่ อีกส่วนคือ การออกแบบยานและจักรกลต่างๆ ก็นับว่าทำได้เท่ดี ทีมงานทำได้เยี่ยมไปจนถึงลีลาการเคลื่อนไหวของตัวละคร วิชวลมุมมองต่างๆ ฉากหลังที่งดงาม รวมทั้งการใส่ตัวอักษรไทย ทำให้พาร์ทนี้โดดเด่นเกินหน้าเกินหน้าพาร์ทใดๆ
แต่ในความดีก็มีบางส่วนที่ชวนไม่ชอบใจอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตัวละครพระลักษณ์หรือองค์ลักษมันตร์ ที่ผู้เขียนบทเลือกใส่ความ queer ลงไปและให้เป็นตัวสร้างสีสันความฮา (แต่นายแพทก็กลับพบตัวเองว่าไม่ขำสักดอกกับแต่ละมุกในหนังเรื่องนี้) ส่วนตัวอยากให้คาแรกเตอร์นี้ออกมาเท่ๆ ซะมากกว่า ฉากยิงธนูของเขานี่สมควรให้ค่าเป็นที่สุด กับอีกตัวคือ พระนางสีดำที่ดูมีความ male gaze แบบเห็นได้ชัด
อีกส่วนก็คงต้องให้กับบรรดานักพากย์ทั้งหลาย ที่ร่วมใจกันทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่น่าเสียดายที่หนังดูจะไม่ให้เครดิตกับพวกเขามากพอ หนังใส่ชื่อสองนักแสดงที่มีบทบาทน้อยในช่วงไตเติลเรื่อง แต่หาชื่อนักพากย์คนอื่นไม่เจอ
บางส่วนของหนัง อาจชวนรู้สึกได้ว่ามี reference มาจากหนังเรื่องดัง แต่นั่นอาจพอทำความเข้าใจได้ และเมื่อหนังจบลงด้วยสองฉากกลางและหลังเครดิต ก็ทำให้เราได้รู้ว่านี่คือปฐมบทแห่งนักรบมนตรา ยังมีภาคต่อให้ต้องติดตามกันซึ่งก็ไม่น่าจะนานเกินรอ
รายละเอียดเกี่ยวกับหนัง
ชื่อภาพยนตร์ | นักรบมนตรา ตำนานแปดดวงจันทร์ / Mantra Warrior: The Legend of the Eight Moons |
กำกับ | วีรภัทร ชินะนาวิน |
เขียนบท | สรพีเรศ ทรัพย์เสริมศรี |
ออกแบบตัวละคร | ชาคริต โนนคำ |
พากย์ | เบลล่า ราณี แคมเปน, ธชย ประทุมวรรณ, … |
แนว/ประเภท | แอนิเมชัน, แอ็คชัน, ไซไฟ |
เรท | N/A |
ความยาว | N/A นาที |
ปี | 2023 |
สัญชาติ | ไทย |
เข้าฉายในไทย | รอบพิเศษ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2023 ฉายจริง 11 ตุลาคม 2023 |
ผลิต/จัดจำหน่าย | RiFF Animation Studio, JAM, GDH 559 |
คะแนนหนัง นักรบมนตรา ตำนานแปดดวงจันทร์
พล็อตและบท - 5.9
การพากย์ - 7.5
การดำเนินเรื่อง - 5.4
เพลงและดนตรีประกอบ - 6.8
เทคนิคงานภาพ และโปรดักชัน - 8
6.7
Mantra Warrior : The Legend of the Eight Moons
แอนิเมชันพันธุ์ไทยที่หยิบเรื่องราวในวรรณกรรมรามเกียรติ์มาขีดเขียนตีความใหม่ ให้มีความไซไฟ และมีเหตุมีผลมากขึ้น งานสร้าง งานออกแบบตัว โดดเด่นเทียบชั้นระดับสากล แต่กลับดูมีปัญหากับบท ที่ไม่ปูพื้นตัวละครสำคัญให้มากพอ จนคนดูไม่รู้สึกเอาใจช่วย เล่าเรื่องไม่นานก็พาเข้าสงครามตู้มๆ อีกทั้งยังใส่ male gaze ให้กับตัวละครอย่างพระนางสีดาอีกต่างหาก