นี่คือเป็นหนังที่มีชื่อเข้าชิงออสการ์ปีนี้อีกเรื่องที่ได้เข้าฉายในโรงบ้านเรา หนังจากเบลเยี่ยมที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของเด็กชายสองคนในสังคมวัยเรียนที่ไม่ค่อยเปิดรับ นี่คือ ‘Close’ หนังได้ชื่อไทยหวานๆ ว่า ‘รักแรก วันนั้น’ ที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูใน..วันนี้
ผลงานหนังเรื่องใหม่จาก ลูคัส ดอนต์ ผู้กำกับและมือเขียนบทชาวเบลเยี่ยม ที่เคยมีหนังที่เข้าฉายในไทยอย่าง ‘Girl’ หนังยาวเรื่องแรกของผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ที่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นหลังได้เข้าฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2018 มาครั้งนี้ เขาเล่าเรื่องการก้าวผ่านวัยของเด็กชายสองคน
ภาพยนตร์ที่เขาอยากจะพูดถึงเรื่องที่ลึกเข้าไปในจิตใจของตนเอง
เรื่องย่อหนัง ‘Close’
หนังเรื่องนี้ เล่าเรื่องราวมิตรภาพของ เลโอ (Eden Dambrine) และ เรมี (Gustav De Waele) เด็กผู้ชายสองคนที่เป็นเพื่อนสนิทกัน ตัวติดกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน ครอบครัวของคนทั้งสองก็ดูจะสนิทกันมากเช่นกัน เลโอมักจะเยี่ยมเยือนบ้านของครอบครัวเรมีอยู่บ่อย เขาจึงสนิทกับโซฟี (Émilie Dequenne จากหนังเรื่อง ‘Rosetta’, ‘Brotherhood of the Wolf’ และ ‘Our Children’) แม่ของเรมีอยู่พอสมควรทีเดียว
แต่ดูเหมือนมิตรภาพของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไป หลังถูกเพื่อนร่วมชั้นเรียนซักไซ้ไถ่ถามเรื่องความสนิทเกินธรรมดาของเด็กทั้งสอง ทั้งมันยังนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมของคนหนึ่ง ที่ทำให้อีกคนต้องเผชิญกับเรื่องยากลำบากเพียงลำพัง
รีวิวหนัง ‘รักแรก วันนั้น’
มันคือเรื่องราวของเด็กชายวัย 12 ปีสองคนที่ใกล้ชิดกันมากอย่างไม่น่าเชื่อ ก่อนที่จะกลายเป็นความเหินห่างเมื่อเพื่อนร่วมชั้นเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวความสัมพันธ์ของพวกเขาทั้งสอง แล้วหลังจากนั้นก็เกิดเหตุน่าเศร้าขึ้น นำมาซึ่งการบีบให้เด็กคนหนึ่งต้องทรมานกับสาเหตุที่เขาเหินห่างของเพื่อนสนิทของตนเอง
หนังทำได้ดีทีเดียวในช่วงครึ่งแรก ที่เผยให้เห็นความเปราะบางของเด็กก่อนวัยรุ่นที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางสังคม มุมมองต่อความสัมพันธ์ของเพศเดียวกันที่ถูกส่งต่อกันมา
หนังถ่ายทำได้อย่างสวยงามในหลายฉาก ผมชอบมากกับฉากวิ่งยาวๆ ของเลโอและเรมีในสวนดอกไม้ที่เป็นอาชีพของครอบครัวเลโอ ฉากนอนคุยกันนั่นก็อีกหนึ่งที่ทำให้มองเห็นภาพความอบอุ่นสดใสในชีวิตวัยเยาว์ แต่สิ่งเหล่านั้นแปรเปลี่ยนกลายเป็นความหม่นเศร้า เมื่อพวกเขาถูกเพื่อนในโรงเรียนตั้งข้อสงสัย อีกครั้งที่หนังเผยให้เห็นถึงการบูลลี่ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์และมิตรภาพของพวกเขาทั้งสองในเวลาต่อมา
ทุกอย่างดำเนินไปอย่างน่าสนใจ การแสดงที่เป็นธรรมชาติ และเด็กๆ ก็สวมบทบาทกันได้ดี แม้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวและบทสนทนาที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัว ไม่เปิดเผยอะไรกับคนดูมากนัก ตัดจากฉากนี้ไปฉากนั้น จากฉากนั้นไปยังฉากถัดไป โดยส่วนตัวแล้ว แม้จะเข้าใจแต่บางส่วนก็คลุมเครือ หนังพยายามบอกเล่าถึงการดิ้นรนภายในแต่ไม่ยอมรับความห่วงใยจากภายนอกของเด็กคนหนึ่ง เก็บความหม่นหมองไว้แต่เพียงผู้เดียว ก่อนจะพาไปสู่ผลลงเอยที่น่าจะเป็นการช็อกผู้คน และควรจะนำมาซึ่งความสะเทือนใจคล้ายจะต้องการให้เสียน้ำตา ทว่า หนังกลับไม่ทำงานกับเรา
หนังใช้การดำเนินเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ตัดสลับอารมณ์ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวอยู่กับสิ่งนี้ เดี๋ยวอยู่กับอีกสิ่ง โดยมีดนตรีประกอบคอยช่วยบิลต์อยู่เป็นระยะคล้ายจะชี้นำอารมณ์คนดู และนอกจากหนังจะเล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่ close ของตัวละครแล้ว หนังก็ยังตั้งใจฉายภาพในแบบ close คือถ่ายใกล้ๆ ให้มองเห็นสีหน้าแววตาของตัวละครอีกด้วย
ความรู้สึกของเราอาจแตกต่างจากคนอื่น มันเข้าใจในความรู้สึกของตัวละครนะ แต่การเล่าของเขาทำให้เราเป็นเพียงคนที่มานั่งดูชีวิตของพวกเขา ไม่รู้สึกอินหรือเสียน้ำตาอะไร ไม่ใช่เพราะมันเป็นเรื่องราวของเด็กผู้ชายสองคนที่มีความรู้สึกบางอย่างต่อกัน แต่อาจเพราะวิธีเล่าแบบนี้ไม่ได้ผลกับเราก็เป็นได้
ชื่นชมในงานภาพที่ถ่ายสวย ชอบที่ได้เห็นชีวิตการทำงานในสวนดอกไม้ ชอบการแสดงของเด็กๆ ในเรื่องที่โคตรดี แต่มันดูไม่เชิงซับซ้อนจนกลายเป็นหนังยาว และการเล่าที่ไม่ทำงานกับเราจนทำให้เรากลายเป็นคนนอก อาจทำให้นึกสงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันว่า ทำไมเราจึงไม่รู้สึกเหมือนกับคนอื่นๆ
แต่ยังไงเราก็ชอบฉากจบนะ ให้ความหมายดี
รายละเอียดเกี่ยวกับหนัง
ชื่อภาพยนตร์ | Close / รักแรก วันนั้น |
กำกับ | Lukas Dhont |
เขียนบท | Lukas Dhont, Angelo Tijssens |
แสดงนำ | Eden Dambrine, Gustav De Waele, Émilie Dequenne, Léa Drucker |
แนว/ประเภท | ดราม่า |
เรท | PG-13 |
ความยาว | 104 นาที |
ปี | 2022 |
สัญชาติ | เบลเยี่ยม |
เข้าฉายในไทย | รอบพิเศษหลัง 1 ทุ่ม ตั้งแต่ 16-22 กุมภาพันธ์ 2023 เข้าฉายจริง 23 กุมภาพันธ์ 2023 |
ผลิต/จัดจำหน่าย | The Match Factory, Mongkol Major |
คะแนนรีวิวหนัง รักแรก วันนั้น
พล็อตและบท - 6.9
การแสดง - 8
การดำเนินเรื่อง - 6.8
เพลงและดนตรีประกอบ - 7.3
งานถ่ายภาพ เทคนิคพิเศษและโปรดักชัน - 8.2
7.4
Close
หนังใช้การดำเนินเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ตัดสลับอารมณ์ไปเรื่อยๆ โดยมีดนตรีประกอบคอยช่วยบิลต์อยู่เป็นระยะคล้ายจะชี้นำอารมณ์คนดู ชื่นชมในงานภาพที่ถ่ายสวย การแสดงของเด็กๆ ในเรื่องที่โคตรดี แต่กับการเล่าที่ไม่ทำงานกับเราจนทำให้เรากลายเป็นคนนอก อาจทำให้นึกสงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันว่า ทำไมเราจึงไม่รู้สึกเหมือนกับคนอื่นๆ