กรุงเทพฯ สมัยก่อนเต็มไปด้วยโรงหนังสแตนด์อะโลน ตั้งกระจายกันไปในหลากหลายพื้นที่ คนยุคนั้นที่ชื่นชอบการดูหนังจึงมีชีวิตที่ผูกพันกับโรงหนังมาก แต่ยุคสมัยได้เปลี่ยนทุกสิ่งไป โรงหนังพวกนี้ลดน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่โรงหนังเครือใหญ่บุกกระจายเต็มพื้นที่ หนึ่งในโรงหนังที่ผู้คนคุ้นเคยและเสียดายที่ต้องถูกทุบทิ้งพวกนั้น ก็คงจะเป็น สกาลา และเมื่อหนึ่งคนทำหนังที่รู้สึกอยากเก็บช่วงเวลาสุดท้ายของโรงหนังนี้ไว้ มันจึงกลายมาเป็นหนังสารคดีชื่อ ‘Scala ที่ระลึกรอบสุดท้าย’
โรงหนังจำนวน 1,200 ที่นั่งแห่งนี้ยืนหยัดอยู่กลางสยามสแควร์ท่ามกลางกระแสที่แปรเปลี่ยน จากที่ฉายหนังเพียงเรื่องเดียว ปรับตัวเป็นฉายหลายเรื่องในหนึ่งวัน มีข่าวคราวว่าจะปิดกิจการ แต่ในที่สุดก็ยื้อไว้ไม่ไหว ทั้งที่สถาปัตยกรรมอันงดงามเหล่านั้นควรค่าแก่การถูกอนุรักษ์ ต้องถูกทุบทิ้งกลายเป็นเพียงความทรงจำ
และหนังสารคดีเรื่องนี้เก็บภาพของช่วงเวลาสุดท้ายนั้นเอาไว้
เรื่องย่อหนัง ‘Scala ที่ระลึกรอบสุดท้าย’
ผมขอหยิบยืมเรื่องย่อจาก Press Release ที่ทีมงานแจกให้หน้าโรงมาฝากก็แล้วกัน ในนั้นก็พอจะบ่งบอกเรื่องนี้ในหนังสารคดีเรื่องนี้ได้มากพอดูแล้ว…
หลังจากสยามและลิโด้ โรงภาพยนตร์แสตนด์อะโลนสองโรงแรกในสยามสแควร์ ได้หายสาบสูญไปในเปลวเพลงเมื่อนานมาแล้ว สกาลากลายเป็นโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อะโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ที่ยังคงเปิดอยู่จนกระทั่งการมาถึงของโควิด-19 ในปี 2020
ไม่นานหลังจากการฉายภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย สกาลาประกาศว่าจะมีการรื้อถอน อนันตา ฐิตานัตต์ ผู้กำกับและตากล้องของสารคดีเรื่องนี้ ซึ่งเป็นลูกสาวของอดีตพนักงานคนหนึ่งด้วย ได้เริ่มเอากล้องเข้าไปสำรวจสกาลาขณะที่กำลังรื้อถอนชิ้นส่วนสำคัญๆ และต้องเผชิญกับความทรงจำเกี่ยวกับตัวเธอเองจากปากของเหล่าพนักงานสกาลา อดีตเพื่อนร่วมงานของพ่อของเธอ ที่มารวมตัวกันเพื่อทำหน้าที่สุดท้ายของพวกเขา ซึ่งก็คือการรื้อสถานที่ทำงานของพวกเขาเอง
รีวิวหนัง ‘Scala ที่ระลึกรอบสุดท้าย’
ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ ไม่เว้นแม้กับโรงภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่มานาน โดดเด่นอยู่ตรงแยกปทุมวัน เคียงข้างด้วยโรงลิโดและสยามที่ก็ผ่านกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ตอนนี้ โรงหนังสยามหายไปแล้วกลายเป็นห้างใหม่ ลิโดก็เปลี่ยนจากโรงเดี่ยวก็แตกกลายเป็น 3 โรงก่อนจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้งกลายเป็น ลิโด้คอนเนกต์ แต่ในที่สุด สกาลาก็ต้องฉายหนังรอบสุดท้าย และถึงเวลาต้องถูกรื้อถอนในที่สุด
การย้อนรำลึกที่บาดลึก
จากวันหนึ่งที่ผู้กำกับหยิบกล้องขึ้นมาเก็บภาพเคลื่อนไหวในมุมต่างๆ ของการรื้อถอนบางชิ้นส่วนที่สำคัญ ซึ่งทำโดยทีมพนักงานสกาลาเองร่วมกับทีมงานจากสวนนงนุช เธอได้พูดคุยกับเหล่าพนักงานที่ทำงานและใช้ชีวิตกินนอนอยู่ที่นี่ จนมันกลายเป็นบ้านสำหรับพวกเขาไปแล้ว การรื้อถอนครั้งนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการต้องมารื้อถอนบ้านตัวเอง คนดูจะได้เห็นทุกขั้นตอนของการรื้อ เข้าไปเห็นทุกซอกทุกหลืบที่คนทั่วไปไม่อาจเข้าถึง
สำหรับคนรักหนัง คนที่เคยแวะเวียนไปดูหนังในทั้ง 3 โรงที่สยามสแควร์ การได้มองเห็นภาพของแต่ละชิ้นส่วนที่ค่อยๆ ถูกถอดออกเป็นความเศร้าอย่างหนึ่ง แม้มันจะเป็นเพียงอาคารหนึ่งหลัง แต่ก็คงอดใจแป้วไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี กับบทสนทนาของเหล่าพนักงานทั้งหลายที่ดูยังมีอารมณ์ขันก็ทำให้มันไม่ได้เศร้าจนเกินไป สะท้อนถึงการมองโลกในแง่ดีท่ามกลางการรื้อทำลายรอบตัว แถมยังได้รับรู้ถึงความเป็นมา และช่วงชีวิตของพวกเขาที่ทำงานอยู่ที่นี่
เพราะผู้กำกับอย่าง แก๊ป อนันตา ฐิตานัตต์ ก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่ได้สัมผัสกับสกาลามาในชั่วระยะหนึ่ง ทั้งเป็นลูกคนอดีตพนักงาน ทำให้เธอกลายเป็นคนเดียวที่จะเก็บภาพเหล่านี้ออกมาให้คนภายนอกได้ชม และเป็นคนที่สามารถพูดคุยกับเหล่าพนักงานอย่างเป็นกันเอง พร้อมบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตนให้คนดูรับรู้
สกาลา โรงหนังที่เดินทางผ่านกาลเวลา
หนังถูกร้อยเรียงให้เดินทางอย่างสมูธ แม้จะไม่ได้หวือหวา แต่ก็ทำงานกับจิตใจได้มากพอควร นอกเหนือจากภาพส่วนต่างๆ ของโรงหนังที่ถูกรื้อ ถอด ถอน ไปทีละส่วน เผยให้เห็นโครงสร้างที่ถูกปิดทับไว้เรื่อยมา ระหว่างนั้นก็นั่งฟังบทสนทนาของคนที่ทำงานกับที่นี่มานาน และนี่เป็นงานสุดท้ายก่อนแยกย้ายไปตามทาง คนดูก็ยังได้เห็นมุมมองชีวิตของผู้กำกับที่เป็นคนรุ่นใหม่ผู้มีชีวิตผูกพันอยู่กับโรงหนังโรงนี้ด้วย
เรื่องราวในหนังครอบคลุมไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโรงหนัง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สกาลาถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ประท้วงทางการเมืองเกิดขึ้น ผ่านเหตุการณ์ไฟไหม้ที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง การประท้วงที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับการรื้อถอน ทั้งเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งการถูกทุบทิ้ง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และโควิด-19 ที่ระบาดหนักก็เป็นตัวเร่งให้วาระสุดท้ายมาถึงเร็วขึ้น
การเก็บภาพเหล่านี้ไว้บนแผ่นฟิล์มเป็นเรื่องดี มันทำให้ช่วงเวลาของโรงภาพยนตร์แห่งความทรงจำแห่งนี้ไม่ถูกลบเลือนไป พร้อมทั้งเหตุการณ์ข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั่นก็เช่นกัน
ระหว่างทางอาจพบความน่ารักไม่เหมือนใครของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ ภาพของแมวที่อาศัยอยู่ที่นั่น เดินเข้าเดินออกโรงหนังจนชินตา คงยากที่จะเห็นพวกมันในโรงภาพยนตร์ทั่วไป
สารคดีที่เกิดจากความโกรธ
ช่วงท้ายของการฉายหนังเรื่องนี้ มีช่วง Q&A ด้วย ซึ่งจากคำถามที่ดีๆ ของหลายคน ทำให้มองเห็นภาพของการทำงานสร้างหนังสารคดีเรื่องนี้ได้มากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างที่ไม่ได้มีเป้าหมายไว้ตั้งแต่แรก แต่เพราะความโกรธที่มีต่อจุฬาฯ ผู้เลือกจะให้สกาลา โรงหนังที่มีสถาปัตยกรรมอันสวยงามควรค่าแก่การอนุรักษ์แต่กลับต้องถูกทุบทิ้ง เธอจึงคว้ากล้องของตัวเองขึ้นมาถ่ายเก็บภาพความทรงจำสุดท้ายเอาไว้ หวังเพียงให้คนพวกนั้นได้มาเห็นแล้วรู้สึกเสียดาย ก่อนที่เธอจะเข้าไปเวิร์กช็อปที่ยามากาตะ แล้วจึงค่อยๆ พัฒนามาจนเป็นหนังสารคดีที่ได้รับการเลือกฉายในหลายๆ เทศกาล ทั้งยังได้รางวัลติดไม้ติดมือกลับมา
ในเรื่องสถานที่ในการฉายรอบพิเศษครั้งนี้ พวกเขาก็เลือกที่จะฉายใน พหลเธียเตอร์/พหลโยธินรามา โรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนที่(อาจเป็น)โรงสุดท้ายในกรุงเทพฯ ที่ยังคงไม่ถูกทุบทิ้ง บรรยากาศมันใกล้เคียงโรงหนังสยามอย่างมากทีเดียว ดูหนังไปก็รู้สึกเหมือนเห็นภาพสะท้อนมาถึงโรงหนังที่นั่งอยู่
ใครที่อยากรับชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ หนังมีกำหนดเข้าฉาย 22 ธันวาคมนี้ อย่าลืมไปซื้อบัตรชมกันนะครับ
รายละเอียดเกี่ยวกับหนัง
ชื่อภาพยนตร์ | SCALA ‘ที่ระลึกรอบสุดท้าย’ |
กำกับ | อนันตา ฐิตานัตต์ |
เขียนบท | อนันตา ฐิตานัตต์ |
แสดงนำ | |
แนว/ประเภท | สารคดี |
เรท | ทั่วไป |
ความยาว | 65 นาที |
ปี | 2022 |
สัญชาติ | ไทย |
เข้าฉายในไทย | 5 ธันวาคม 2022 [รอบพรีเมียร์ในเทศกาล World Film Festival of Bangkok 2022]ฉายจริง 22 ธันวาคม 2022 |
ผลิต/จัดจำหน่าย | Bandai Dam Studio, Mobile Lab |
SCALA ‘ที่ระลึกรอบสุดท้าย’
พล็อตและบท - 8.4
การดำเนินเรื่อง - 7.9
งานถ่ายภาพ เทคนิคพิเศษและโปรดักชัน - 8.6
8.3
Scala
ภาพยนตร์สารคดีของหญิงสาวคนหนึ่งที่เป็นลูกของพนักงานคนหนึ่งที่เคยทำงานในโรงหนังสกาลา หลังรู้ว่าโรงหนังแห่งนี้ต้องถูกทุบทิ้ง จึงหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายเก็บภาพวาระสุดท้าย วันที่พนักงานต่างช่วยกันรื้อถอนชิ้นส่วนสำคัญ พร้อมฟังคำบอกเล่าถึงช่วงชีวิตของพวกเขากับโรงหนังแห่งความทรงจำ ทั้งฟังเสียงบรรยายบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของผู้กำกับเอง