ศิลปินและอัลบั้มเพลง-ดนตรี

AKB48 | อะไรคือ เอเคบีโฟร์ตีเอต?

อาจไม่ถึงกับเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ติดตามวง BNK48 มาตั้งแต่ต้น อาจจะไม่เคยได้ทำความรู้จักกับวงรุ่นพี่จากญี่ปุ่นมาก่อน และเพิ่งมาศึกษาเอาในช่วงหลังๆ แต่ก็คิดว่าจะลองรวบรวมดู ข้อมูลที่เกี่ยวกับ AKB48 เท่าที่รู้ ก็แล้วกันนะ

AKB48
เอเคบี48 ในชุดของซิงเกิล ‘Iiwake Maybe’

ต้องออกตัวไว้ก่อน ว่ามันอาจจะไม่ได้ครบถ้วนมากนักสำหรับคนที่ติดตามมาอย่างใกล้ชิด แต่อาจจะพอเป็นข้อมูลคร่าวๆ สำหรับคนที่ติดตามมาไม่นาน เพิ่งมาติดตาม หรือแม้แต่คนแค่ได้รู้จักจากสื่อต่างๆ

อีกอย่าง มันก็เหมือนเอาไว้แปะช่วยตัวเองจำนั่นเองแหละ

จริงๆ แล้ว คอนเซ็ปต์ของวงไอดอลแบบนี้มันเริ่มมาจากการกำเนิดขึ้นของวงพี่สาวคนโตอย่าง AKB48 ที่อากิฮาบาระ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยไอเดียจาก อ. อากิโมโตะ ยาสึชิ ที่ต้องการสร้าง “Idols you can meet” ขึ้นมา เขาจึงร่วมมือจาก โทงาซากิ โทโมโนบุ ผู้เชี่ยวชาญด้านทำคลับโชว์ เพื่อร่วมกันสร้างเธียเตอร์ขึ้นแล้วออดิชั่นให้สาวๆ ที่ผ่านการคัดเลือกได้แสดงที่นั่น

AKB48 มีเธียเตอร์ของตัวเอง ตั้งอยู่บนชั้น 8 ของอาคาร Don Quijote ในแถบอากิฮาบาระ ใครไปแถวนั้นจะลองขึ้นไปเยี่ยมชมก็ได้นะ

AKB48's Theatre
เธียเตอร์ที่ อะกิฮาบาระ ของ AKB48

เรื่องของจำนวนสมาชิก

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องเป็น AKB และทำไมต้องเป็น 48 มันเป็นไอเดียของการตั้งชื่อให้เป็นตัวย่อแต่จะไม่ใช่ตัวย่อที่ใช้กันตามปกติ AKB ก็คือ Akihabara ย่านที่ตั้งของเธียเตอร์ และ 48 นั้นเป็นคำพ้องเสียง(ในภาษาญี่ปุ่น)ของประธานบริษัท ชิบะ โคทาโร่ (ชิ = 4, บะ = 8)

ถึงแม้ชื่อจะระบุตัวเลขเป็น 48 แต่ก็ไม่ได้ความว่าวงนี้จะมีสมาชิกตายตัว 48 คน แต่จะมีเท่าไหร่ก็ได้ แถมยังมีการออดิชั่นเข้ามาใหม่ได้เรื่อยๆ เพื่อทดแทนสมาชิกคนเก่าที่จบการศึกษา (แกรด/Graduation) หรือลาออกจากวงไป

ในช่วงเวลาหนึ่งๆ เอเคบีจะมีเมมเบอร์หรือสมาชิกวงอยู่ราว 100 กว่าคน

สมาชิกที่เพิ่งเข้าวงจะถูกเรียกว่า ‘เค็งคิวเซย์’ หรือ ‘เด็กฝึกหัด’ ในแต่ละซิงเกิล สมาชิกที่ผ่านการคัดเลือกในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็น 16 สมาชิกหลักในซิงเกิลนั้นๆ จะถูกเรียกว่า ‘เซ็มบัตสึ’ และจะมีการประกาศเมมเบอร์ที่เป็น ‘เซ็นเตอร์’ ของซิงเกิลนั้นๆ โดยที่บางซิงเกิลจะมีเซ็นเตอร์ 2 คน เรียกว่า ‘ดับเบิลเซ็นเตอร์’

เอเคบีล้มลุกคลุกคลานอยู่พักใหญ่ ก่อนจะกลายเป็นปรากฏการณ์ 

การค้นหาเซ็มบัตสึ

การค้นหา 16 ตัวจริง หรือที่เรียกว่าเซ็มบัตสึนั้น (อาจใช้สมาชิกมากกว่า 16 คน ในบางซิงเกิลอันนี้ก็ได้นะครับ) มีหลายวิธี

บ้างก็อาจจะเกิดการจากดูความนิยมต่างๆ ไม่ว่าจะจำนวนแฟนคลับที่มาจับมือ ความเหมาะสมต่อเพลงนั้นๆ แต่บางซิงเกิลจะใช้การเลือกตั้งเป็นตัวกำหนด

การเลือกตั้ง ก็คือ การให้แฟนคลับ (หรือที่เรียกว่า “โอตะ”) มาร่วมโหวตไอดอลคนที่ตัวเองชื่นชอบ ใครได้โหวตสูงสุด 16 อันดับก็จะได้ตำแหน่งเซ็มบัตสึของซิงเกิลถัดไป โดยบัตรเลือกตั้งจะอยู่ในซีดีซิงเกิล บัตรหนึ่งใบ สามารถใช้โหวตได้ 1 ครั้ง คนๆ หนึ่งจะสามารถซื้อซิงเกิลกี่แผ่นก็ได้ตามที่ต้องการ การทุ่มโหวตจึงดูเป็นเรื่องเป็นไปได้ในการเลือกตั้งนี้

การเป่ายิ้งฉุบ บางที เขาก็จะให้เมมเบอร์มาเป่ายิ้งฉุบกันเพื่อหาคนชนะและได้มาเป็นเซ็มบัตสึด้วยเหมือนกันนะครับ

ทีมย่อย

ด้วยความที่มีสมาชิกมากขึ้น และมีการแสดงในเธียเตอร์หลายรอบต่อสัปดาห์ ก็เริ่มมีแนวคิดในการแตกเป็นวงย่อย วงละ 16 คน โดยใช้ตัวอักษรและตัวเลขในชื่อเป็นชื่อทีม เช่น Team A, Team K, Team B, Team 4 และ Team 8 แต่ละทีมก็จะมีธีมของตัวเองที่แตกต่างกันไป

ส่วนวงน้องสาวก็จะมีตัวอักษรซ้ำกัน ก็จะใส่ตัวเลขเพิ่มเข้าไปด้วย เช่น NMB48 ก็จะมี Team BII (ทีมบีทู) และ BNK48 ก็จะมี Team BIII (ทีมบีทรี) เป็นต้น

AKB48
เอเคบี48 ในชุดของซิงเกิล ‘Iiwake Maybe’

ซิงเกิล

จากเดิมที่มีแต่การแสดงในเธียเตอร์ แต่งเพลงขึ้นมาเพื่อการแสดงในนั้น ก็เริ่มมีการออกซิงเกิลในลักษณะซิงเกิลเซต (Single Set) ซึ่งจะมี 3 เพลงในแต่ละซิงเกิล ออกวางจำหน่ายซึ่งในนั้นก็อาจจะมีรูปสุ่มหรือบัตรจับมือหรือบัตรเลือกตั้ง แล้วแต่กรณีไป

แถมต่อมาก็ยังแบ่งซิงเกิลเป็นไทป์อีก คือซิงเกิลเซตเดียวกัน แต่จะมีหนึ่งเพลงที่แตกต่างกันไป จะเรียกเป็น Type A, Type B, … ซึ่งก็แน่นอน หลายคนเลือกที่จะเก็บทุกไทป์ ส่งผลต่อยอดจำหน่ายที่สูงขึ้นไปได้อีก

วงน้องสาว

จาก AKB48 วงเดียว ก็ขยายออกมาอีก 5 วงน้องสาวในญี่ปุ่นซึ่งก็ตั้งชื่อตามตำแหน่งที่ตั้งของเธียเตอร์ อันได้แก่ SKE48 (ซากาเอะ, นาโกย่า), NMB48 (นัมบะ,​ โอซาก้า), HKT48 (ฮากาตะ, ฟุกุโอกะ), NGT48 (นิกาตะ) และ STU48 (เซโตอุจิ) วงสุดท้ายนี้เท่มากเพราะว่าเธียเตอร์ตั้งอยู่บนเรือสำราญ

อีกวงที่จะไม่พูดถึงก็คงมิได้ นั่นคือ SDN48 (Saturday Night 48) วงน้องสาวภายในคอนเซ็ปต์​ “ไอดอลสำหรับผู้ใหญ่” เป็นวงที่จะแสดงในเธียเตอร์ทุกวันเสาร์สี่ทุ่ม กำเนิดในปี 2010 แต่ปิดตัวลงใน 2012

ในที่สุด คอนเซ็ปต์นี้ก็แผ่ขยายไปยังหลายๆ ประเทศในเอเชีย กลายเป็นวงน้องสาวนอกญี่ปุ่น แตกต่างแค่ชื่อของวงจะเป็นตัวย่อของเมืองหลวงของประเทศนั้นๆ แทน ไม่ว่าจะเป็น JKT48 (จาการ์ตา, อินโดนีเชีย), BNK48 (กรุงเทพฯ, ไทย),  MNL48 (มะนิลา, ฟิลิปปินส์), TPE48 (ไทเป, ไต้หวัน), MUM48 (มุมไบ, อินเดีย) และล่าสุดก็คือ SGO48 (โฮจิมินต์, เวียดนาม)

เคยมีวง SNH48 (เซี่ยงไฮ้, จีน) แต่ได้มีการยกเลิกสัญญากันไปแล้วครับ

AKB48 Handshake Event
งานจับมือของวงไอดอล เอเคบี48

สมาชิกคนดัง

ถ้าจะพูดถึงเมมเบอร์หรือสมาชิกของ AKB48 มันคงมีเยอะมากที่คนพูดถึงกัน หลายคนก็ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน หลายคนก็แกรดออกไปแล้วก็มี คงหยิบได้มาเป็นบางคนแหละมั้ง

มายูยุ หรือ มายุ วาตานาเบะ

คงต้องบอกว่าเป็นสาวคนแรกที่สะดุดตาและทำให้แยกออกได้ก่อนคนอื่นๆ ด้วยความน่ารัก และน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ เธอประกาศจบการศึกษาในวันที่ 17 มิถุนายน 2017 แต่เธอทำหน้าที่จนวันสุดท้ายของปีก่อนที่จะสิ้นสุดการเป็นสมาชิกวงตลอดกาล

ทาคามินะ หรือ ทาคาฮาชิ มินามิ

สมาชิกรุ่น 1 ที่แทบจะเรียกได้ว่าเธอคือหัวใจของวง หรือเป็นตัวแทนของวงไปเลยก็ว่าได้ มีความสวยน่ามองเป็นอาวุธประจำกาย เป็นเซ็นเตอร์มาหลายซิงเกิลมากๆ เคยได้สูงสุดอันดับ 4 ในการเลือกตั้งปี 2015 ก่อนจะจบการศึกษาในช่วงต้นปี 2016

อิทาโนะ โทโมมิ

เป็นสาวหน้าหวาน ผมยาวสีน้ำตาล หยักศกเล็กๆ เป็นรุ่น 1 ที่หน้าตาสะดุดที่สุดคนหนึ่ง 1 กุมภาพันธ์ 2013 คือวันที่เธอจบการศึกษาออกไปเป็นนักร้องเดี่ยวและนักแสดง

ชิโนดะ มาริโกะ หรือ มาริโกะซามะ

สาวสวยหน้ากลมที่มาทรงผมสั้น โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งในรุ่น 1 เธอเคยออดิชั่นแล้วไม่ผ่าน ก็ยังเลือกที่จะมาทำงานในคาเฟ่ จนวันหนึ่งเธอก็ได้รับโอกาสไปร่วมแสดงในเธียเตอร์ ถือเป็นสมาชิกรุ่นที่ 1.5 คนเดียวในวง ประกาศจบการศึกษาในเดือนกรกฎาคม 2013

อั๊ตจัง หรือ มาเอดะ อัตสึโกะ

สาวน้อยหน้าตาร่าเริงสดใสที่อยู่มาตั้งแต่รุ่น 1 เป็นเซ็นเตอร์มาหลายเพลง มักจะไว้ผมสั้นยาวประบ่า มีใบหน้าและรอยยิ้มที่โดดเด่นแยกออกได้ง่ายมาก เธอแกรดในวันที่ 25 มีนาคม 2012

มัตซุอิ จูรินะ

จริงๆ เธอเป็นสมาชิก SKE48 แต่ก็เคยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ได้มารวมกลุ่มกับ AKB48 เคยเป็นเซ็นเตอร์เพลง ‘Ogoe Diamond’ ที่ทุกคนรู้จักนั่นไงล่ะครับ อ้อ เธอคือคนที่ชนะการเลือกตั้ง 53rd Single World Senbatsu ในปี 2018 นั่นแหละ

อาจจะไม่ได้เขียนถึงทุกคนนะครับ เพราะมันคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าอยากให้เพิ่มเติมคนไหนก็บอกได้นะครับ 

ไทม์ไลน์

ปี 2005

  • ก่อตั้งวงด้วยประกาศออดิชันรับเด็กสาวเข้ามาเป็นเมมเบอร์รุ่นแรก จาก 7,924 คน ได้มา 24 คน
  • 8 ธันวาคม มีเธียเตอร์แรกเป็น PARTY ga Hajimaru yo (PARTYが始まるよ)

ปี 2006

  • มกราคม ชิโนดะ มาริโกะ พนักงานขายคาเฟ่ได้กลายมาเป็นเมมเบอร์ของ Team A
  • กุมภาพันธ์ ออดิชั่นรุ่นที่สอง ได้อีก 19 คนมาอยู่ Team K
  • มีซิงเกิลอินดี้แรกที่ชื่อ “Sakura no Hanabiratachi”
  • ยูกิ อุซามิ เป็นเมมเบอร์คนแรกที่แกรดออกไปจากวง
  • มีซิงเกิลที่สอง “Skirt, Hirari”
  • 25 ตุลาคม ออกซิงเกิลแรกกับ DefStar “Aitakatta” ก่อนจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน

ปี 2007

  • ต้นปี เริ่มต้นด้วย ‘Seifuku ga Jama o Suru’ ตามด้วย ‘Keibetsu Shiteita Aijō’, ‘Bingo!’ และ ‘Yūhi o Miteiru ka?’ ซิงเกิลที่ขายได้น้อยสุดของวง

ปี 2008

  • มีอัลบั้มเต็มชุดแรก “Set List: Greatest Songs 2006–2007”
  • มิถุนายน กำเนิดวงน้องสาววงแรก SKE48
  • ยกเลิกสัญญากับ DefStar Records และเซ็นใหม่กับ King Records
  • ตุลาคม SKE48 ออกซิงเกิลแรก ‘Oogoe Diamond’ ที่มีจูรินะเป็นเซ็นเตอร์
  • ออกซิงเกิล ’10nen Sakura’, ‘Namida Surprise!’ และ ‘Iiwake Maybe’

ปี 2009

  • ออกซิงเกิล ‘River’ สามารถขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ทออริกอนได้สำเร็จ

ปี 2010

  • ออกซิงเกิล ‘Sakura no Shiori’ และขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตออริกอนได้อีกซิงเกิล
  • ออกซิงเกิล ‘Ponytail to Chouchou’ และ ‘Heavy Rotation’ ซิงเกิลหลังนี่กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ทุกคนจดจำ

ปี 2011

  • มีนาคม ประกาศวงน้องสาวอีก 3 วง คือ SKE48, SDN48 และ NMB48
  • พฤษภาคม ประกาศวงน้องอีกวง HKT48
  • ออกซิงเกิล ‘Everyday, Kachūsha’ อันเป็นซิงเกิลเลือกตั้งที่ทำยอดขายสูงมากเป็นประวัติการณ์
  • สิงหาคม ออกซิงเกิล ‘Flying Get’ เป็นซิงเกิลที่สี่ที่ขายได้ถึงล้านก็อปปี้ในสัปดาห์แรก
  • ได้รับรางวัลกรังปีซ์บนเวที Japan Record Awards ครั้งที่ 53 มาครอบครอง

ปี 2012

  • ออกซิงเกิลที่ยี่สิบเจ็ด ‘Gingham Check’
  • สิงหาคม ออกอัลบั้มเต็มชุดที่สี่ ‘1830m’
  • ได้รางวัล Japan Record Award อีกครั้งจากซิงเกิล ‘Manatsu no Sounds Good!’

ปี 2013

  • สิงหาคม ออกซิงเกิล ‘Koisuru Fortune Cookie’ ซิงเกิลที่คนไทยทุกคนรู้จักนั่นแหละ

ปี 2015

  • ออกซิงเกิล ‘Bokutachi wa Tatakawanai’ ตามด้วย ‘Halloween Night’

ปี 2016

  • ได้เวลาของซิงเกิล ‘Kimi wa Melody’ ซิงเกิลที่รวมเอาสมาชิกเอเคบีที่เคยจบการศึกษาไปมาร้องเต้นร่วมกันกับ โดย มิยาวากิ ซากุระ ได้เป็นเซ็นเตอร์เพลงแรกด้วย

ปี 2017

  • มาถึงซิงเกิล ‘Shoot Sign’ ที่เป็นซิงแกรดของ โคจิมะ ฮารุนะ เธอจะเป็นเซ็นเตอร์เพลงนี้เป็นเพลงสุดท้าย
  • ออกซิงเกิล ‘#sukinanda’ ก่อนจะตามมาด้วย ’11gatsu no Anklet’ ซิงแกรดของมายูยุ

ขอบคุณภาพประกอบ:

  • https://medium.com/ignition-int/japanese-idols-will-transform-the-world-entertainment-business-b6975f6e588c
  • https://www.insidejapantours.com/blog/2014/08/12/akb48-the-surprising-truth-behind-the-worlds-biggest-band/
  • https://koushinbi-mitei.blog.so-net.ne.jp/2014-07-06

PatSonic

บล็อกเกอร์ผู้ชอบดูหนังหลากแนว ฟังเพลงหลายสไตล์ มีเวลาว่างก็จะออกไปท่องเที่ยว บางเวลาก็หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หยิบซีรีส์ขึ้นมาดู แล้วก็จะหยิบมาเขียนให้ทุกคนได้อ่านกัน
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Adblock Detected

เนื่องจากบล็อกนี้อยู่ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อผู้เยี่ยมชม รบกวนไม่ใช้ Ad Blocker เพื่อการเยี่ยมชมที่สมูธครับ