เป็นซีรีส์ที่ว่าจะเปิดดูมาตั้งนานละ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ฤกษ์เปิดดูสักที จนวันนี้ซีรีส์เรื่อง ‘Dickinson’ หรือชื่อไทยๆ ‘โลกของเอมิลี่ ดิกคินสัน’ ผ่านมาถึงซีซันที่สามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จุดเริ่มต้นของความอยากดูนั้นมาจากความที่มันแสดงนำโดย Hailee Steinfeld/เฮลีย์ สไตน์เฟลด์ นักแสดงสาวคนโปรดคนหนึ่งของนายแพทนั่นเอง พอเข้าไปทำความรู้จักกับซีรีส์เรื่องนี้มากขึ้น ความน่าสนใจในมุมอื่นที่ผุดขึ้นตามมา
เริ่มจากความที่มันเป็นซีรีส์ที่เล่าเรื่องของ Emily Elizabeth Dickinson หญิงสาวผู้มีชีวิตอยู่จริงในยุคโน้นที่มีความคิดเป็นอิสระท่ามกลางโลกที่ยังถูกครอบคลุมด้วยคติ/ค่านิยมในแบบชายเป็นใหญ่อยู่ในระดับที่สูงมากๆ ซึ่งทำให้เธอรู้สึกอยู่ยากในโลกใบนั้น
และมันก็ไม่ได้มีแค่เฮลีย์นะ ยังมีนักแสดงอีกคนที่น่ารักสะกดใจมากๆ ด้วย
เรื่องย่อซีรีส์ ‘Dickinson’
มันเป็นเรื่องเล่าที่ถูกขีดเขียนขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจคนจริงที่เคยมีชีวิตอยู่ในอดีต เธอคือ เอมิลี ดิกคินสัน (Hailee Steinfeld/เฮลีย์ สไตน์เฟลด์ จากหนังเรื่อง ‘Pitch Perfect 2’ และซีรีส์ ‘Hawkeye’ และ ‘Arcane: League of Legends’) หญิงสาวนักเขียนผู้เปี่ยมล้นจินตนาการในยุคสมัยที่ผู้หญิงยังถูกกดให้อยู่ภายใต้กฎของผู้ชาย และนักกวีหญิงไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
เอมิลีเกิดมาในบ้านที่ค่อนข้างร่ำรวยประมาณหนึ่ง บ้านที่มีพ่อเอ็ดเวิร์ด (Toby Huss จากหนังเรื่อง ‘Copshop’ และ ‘Halloween (2018)’) นักธุรกิจผู้หาทางเข้าสู่วงการการเมือง เป็นพ่อที่ค่อนข้างให้อิสระกับเอมิลี แต่ก็เฉพาะในบ้านเท่านั้นแหละ มีแม่ (Jane Krakowski จากซีรีส์เรื่อง ‘Unbreakable Kimmy Schmidt’) ที่เอาจริงเอาจังกับการทำงานบ้าน ทั้งเคี่ยวเข็ญลูกสาวสาระพัด แต่ไม่ยอมจ้างคนรับใช้แม้บ้านนี้จะมีเงินเหลือเฟือ
เอมิลีเป็นลูกสาวคนกลาง เธอมีพี่ชายชื่อ ออสติน (Adrian Enscoe จากหนังเรื่อง ‘Groove’ และ ‘Seeds’) คนที่ไม่ค่อยเฉลียวฉลาดนักแต่ก็รักน้องมาก เขาเตรียมตัวจะตกแต่งกับซู กิลเบิร์ต (Ella Hunt/เอลลา ฮันท์ จากหนังเรื่อง ‘The More You Ignore Me’ และ ‘Robot Overlords’) สาวสวยที่ใครๆ ก็คิดว่าเป็นเพื่อนสนิทของเอมิลี แต่แท้ที่จริงแล้ว ทั้งสองคนคบหากันในฐานะคนรักที่ต้องแอบซ่อน และเธอก็มีน้องคนสุดท้องอย่าง ลาวิเนีย (Anna Baryshnikov จากหนังเรื่อง ‘Manchester by the Sea’) หญิงสาวผู้ชอบการวาดรูปที่ดูเหมือนจะเรียบร้อยแต่แฝงความเผ็ดลึกไว้ภายใน
เรื่องราวที่ดำเนินไปพร้อมกับชีวิต การเรียนรู้ และการเติบโตของเอมิลี ดิกคินสัน ผ่านบทกลอนที่กลั่นกรองจากสมองอันปราดเปรื่องของเธอ
รีวิวซีรีส์ ‘โลกของเอมิลี ดิกคินสัน’
ความน่าสนใจของซีรีส์นี้ มันคือ การเล่าเรื่องของบุคคลที่มีความคิดแตกต่างจากสังคมและยุคสมัย ผู้เขียนบทสามารถจะใส่แง่มุมต่างๆ ลงไปเพื่อแสดงให้เห็นว่า เขาผู้นี้ต้องประสบพบเจอกับปัญหาความยุ่งยากอย่างไรในการใช้ชีวิต ต้องดิ้นรนอย่างไรเพื่อจะได้มีชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ และผู้คนรอบข้างทำอย่างไรกับเขา ถ้าเขามีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน conflict หรือความขัดแย้งมันจะดูเบาบางกว่า และเพราะความแตกต่างนี่แหละ ที่ทำให้มันเป็นเรื่องน่าสนใจขึ้นมา
ยุคสมัยที่โลกยังเป็นของผู้ชาย
เหตุมันเกิดช่วงปี ค.ศ.1820 แถวๆ รัฐแมสซาชูเซตส์ ยุคสมัยที่หญิงสาวเกิดมาเพื่อเรียนรู้การเป็นแม่บ้านแม่เรือน โตขึ้นมาแต่งเข้าบ้านผู้ชาย ก็เข้าไปเป็นแม่บ้าน คอยรับใช้สามี ยุคที่ผู้หญิงยังใส่กระโปรงพองๆ
เอมิลีเป็นผู้หญิงวัยรุ่นที่มีนิสัยจะห้าวและซุกซน แปลกแยก และไม่ชอบใจที่สังคมเปิดกว้างไว้ให้แต่กับผู้ชาย เธอพยายามจะก้าวเข้าไปในพื้นที่เหล่านั้นอยู่บ่อยๆ แม้จะต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับของผู้คนในสังคมก็ตาม เท่านั้นยังไม่พอ เธอยังไม่มีความคิดที่จะแต่งงาน ทั้งมีรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง เพราะแอบคบหาอยู่กับซู หญิงสาวที่สูญเสียญาติพี่น้องทั้งหมด ความขัดแย้งที่เพิ่มมาอีกอย่างก็คือ การที่ออสตินพี่ชายของเขาหลงรักซูและกำลังจะแต่งงานกับเธอ
ชีวิตของหญิงสาวในยุคสมัยนั้น เติบโตขึ้นมาไม่เท่าไหร่ พ่อแม่ก็เสาะหาผู้ชายที่คิดว่าเหมาะสมมาให้ทำความรู้จักแล้ว ผู้หญิงทุกคนจึงต้องเรียนรู้การบ้านการเรือน เพื่อแต่งงานและย้ายไปปรนนิบัติและอยู่ใต้อาณัติของสามี แต่แปลกที่แม่ของเอมิลีไม่คิดจะส่งเธอไปเป็นภรรยาของใคร ยิ่งอยู่เป็นโสดนาน เอมิลีก็จะยิ่งกลายเป็นสาวทึนทึกในสายตาของใครๆ และแม้เธอจะไม่ต้องการแต่งงาน และไม่ต้องการมีลูก
ทว่าเท่าที่ดู เธอเองก็มักจะมีผู้ชายหลายคนแวะเวียนเข้ามาเสมอๆ
แม้กระทั่งแม่ของเธอเองก็เถอะ ภายนอกอาจดูมีความสุขดีในการทำหน้าที่ภรรยาตามขนบ แต่ลึกๆ ข้างในก็รู้แหละว่าต้องอดทนเท่าไร เฝ้าพร่ำบอกตัวเองแค่ไหนว่า ได้อยู่กับคนที่รักคือดีที่สุดแล้ว
เอมิลี เธอคือ กวีหญิงผู้เปี่ยมล้นจินตนาการ
ในช่วงศตวรรษที่ 19 ดูเผินๆ ก็เหมือนว่า เอ็ดเวิร์ดจะเป็นพ่อที่ค่อนข้างให้อิสระกับเอมิลี เพราะในบ้าน เขาก็มักปล่อยให้เธอทำอะไรตามอำเภอใจ ผู้เป็นแม่เสียอีก ไม่เคยจะโอนอ่อนให้ มุ่งแต่จะให้ลูกรับผิดชอบงานบ้านอย่างไม่บกพร่อง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็เริ่มเห็นว่า เขาเองไม่เคยเห็นด้วยที่จะให้เอมิลีเป็นกวีหญิง เขาไม่ยินยอมให้เธอเอาบทกวีไปลงในสิ่งพิมพ์ไหน หรือลงประกวดแข่งขันใด ในยุคนั้นไม่เคยมีนักคิดนักเขียนเป็นผู้หญิงมาก่อน ทุกอย่างนอกบ้านมีแต่พื้นที่ของผู้ชาย
ยิ่งดูก็ยิ่งมองเห็นว่า ในยุคนั้น มีแต่ผู้ชายที่ทำได้ทุกอย่างนอกบ้าน จากบทสนทนา ทำให้รู้ว่าโลกนั้นไม่มีนักข่าวที่เป็นผู้หญิง ในสถานศึกษาไม่มีผู้หญิงเรียน นับประสาอะไรกับนักเขียนบทกวี และในเมื่อเอมิลีรักและมีความสามารถในเขียนบทกลอน ทำไมเธอจะต้องจำกัดตัวเองอยู่กับการทำงานบ้านและรับใช้สามีเพียงเท่านั้นเล่า มันช่างน่าอึดอัดเสียจริง
ซีรีส์จะเล่าพาร์ทดราม่าที่เป็นมุมของคนธรรมดาของสาวนักกวีที่ไม่ได้รับการยอมรับ คบหาเพศเดียวกันอย่างลับๆ กับไม่ต้องการแต่งงาน ผสมผสานกับเรื่องราวที่เป็นพาร์ทแฟนตาซี เสริมทัพเข้าไปทำให้สามารถเล่าเรื่องได้อย่างมีสีสัน เอมีลีเป็นหญิงสาวจินตนาการสูง ผู้ฝักใฝ่หลงใหลใน ‘ความตาย’ ที่มาในรูปลักษณ์ของรถม้าและชายผิวดำใส่หมวก หลายครั้ง เขาก็เขียนบทให้เธอเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ประหลาดๆ
แต่ทุกตอนจะแทรกไว้ด้วยบทกวีที่ผุดขึ้นในหัว บทกวีที่เรียงร้อยไว้อย่างสละสลวย บางชิ้นเข้าใจได้ง่าย บางชิ้นก็เข้าถึงได้ยาก ผมยิ่งเป็นพวกที่ไม่อาจซึมซับกับบทกลอนที่มาทีละวรรคบนจอทีวี หรือแม้แต่มีคนมาอ่านให้ฟังได้ แต่จะเข้าใจมากกว่าเมื่อโผล่มาให้อ่านทั้งบท จึงอาจมีปัญหาในการทำความเข้าใจไปบ้างในส่วนนี้
บอกเล่าเรื่องในศตวรรษที่ 19 นอกเหนือจากความเป็นหญิงที่ถูกจำกัด
ในซีรีส์ มันไม่ใช่แค่สังคมชายเป็นใหญ่ที่กวีหญิงผู้มีความแปลกแยกเข้าไปอยู่ แต่ก็ยังเป็นยุคที่รถไฟคือเครื่องหมายของความเจริญ ยุคที่คนผิวดำยังคงเป็นทาสและเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อหวังปลดแอกสำเร็จในรุ่นลูกรุ่นหลาน ยุคที่สงครามกำลังคุกรุ่นและคนวัยหนุ่มสาวมากมายต้องถูกเซ่นสังเวยชีวิตไปในเหตุแห่งความรุนแรงครั้งนี้
ในซีซันที่สามนั้น นอกจากครอบครัวดิกคินสันกำลังจะแตกแยก และเอมิลีต้องเพียรพยายามจะประสานมันแล้ว เธอเองก็เริ่มจะขยับขยายตัวเองไปสู่แรงบันดาลใหม่ๆ ด้วย มันจึงไม่ได้บอกเล่าแก่เราเพียงเรื่องสิทธิสตรีแต่เพียงอย่างเดียว
ตัวซีรีส์ดำเนินไปตามไทม์ไลน์ชีวิตของเอมิลี ที่มีทั้งดราม่าบ้าง แฟนตาซีบ้าง ปนเปกันไป แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคงเป็นดนตรีที่ค่อนข้างสมัยใหม่ มีความเป็นวัยรุ่น ซึ่งดูขัดแย้งกับภาพที่เป็นเรื่องราวของอเมริกาในศตรวรรษที่ 19 แต่ความแปลกประหลาดนี้ก็ดูไปด้วยกันได้ดีทีเดียว การดำเนินเรื่องอาจดูเรียบบ้าง หวือหวาบ้าง ขึ้นอยู่กับสาส์นที่ซีรีส์ต้องการจะบอกเล่าในตอนนั้นๆ แต่โดยรวมมันคือซีรีส์ที่ดูสนุก เพลิดเพลิน เป็นแคสต์ที่ดี โดยเฉพาะตัว Hailee Steinfeld และ Ella Hunt ที่ดึงดูดใจได้ตลอด
เป็นการข้ามมาดูคอนเทนต์ Apple+ ครั้งแรกที่แสนประทับใจ
รายละเอียดเกี่ยวกับซีรีส์
ชื่อซีรีส์ | Dickinson / โลกของเอมิลี่ ดิกคินสัน |
Creator | Alena Smith |
นักแสดง | Hailee Steinfeld, Adrian Enscoe, Anna Baryshnikov, Jane Krakowski, Toby Huss, Ella Hunt, Chinaza Uche |
แนว/ประเภท | Biography, Comedy, Drama, Romance |
จำนวนตอน | ซีซัน 1 : 10 ตอน, ซีซัน 2: 10 ตอน, ซีซัน 3: 10 ตอน |
ช่องทางรับชม | Apple+ |
เริ่มออกอากาศ | 1 พฤศจิกายน 2019 |
ผู้ผลิต/เจ้าของลิขสิทธิ์ | wiip studios, Anonymous Content, Apple TV, The Domain Group |
โลกของเอมิลี ดิกคินสัน
พล็อตและบท - 8.5
การดำเนินเรื่อง - 7.8
การแสดง - 8.8
งานภาพและเทคนิคพิเศษ - 8.3
เพลงและดนตรีประกอบ - 8.5
8.4
Dickinson
ซีรีส์ทาง Apple+ ที่บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวผู้มีความแปลกแยกแตกต่างจากคนในยุคสมัยนั้น เธอรักในการเป็นกวีหญิงและมีจินตนาการสูงแต่อยู่ในยุคสมัยที่คนไม่ยอมรับผู้หญิง ถ่ายทอดทั้งความเป็นซีรีส์ดราม่าย้อนยุค และบางช่วงก็แทรกใส่ความแฟนตาซีเข้าไป ทำให้มีสีสันอย่างมาก เพลงประกอบสุดทันสมัย พร้อมกับการแสดงและบทที่ชวนติดตาม