ภาพยนตร์

รีวิวหนัง Mother Gamer เกมเมอร์เกมแม่ | เมื่อแม่ตั้งทีมเกมมาล้มทีมลูก

ผลงานเรื่องที่สามของเสือ ยรรยง หนังไทยเรื่องแรกที่ว่าด้วยอีสปอร์ต เมื่อแม่ตั้งทีมเกมแข่งกับลูกชาย

ในยุคที่การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ได้รับความนิยมจนกลายมาเป็นกีฬา พวกเขาสามารถสร้างรายได้จากการเล่นเกมได้เป็นกอบเป็นกำ จนผู้ใหญ่จะหาว่าพวกเขาเสียเวลาไปกับการเล่นเกมก็อาจจะยากแล้ว กีฬาชนิดใหม่ที่ถูกบรรจุในรายการแข่งขันกีฬาทั้งระดับเล็กใหญ่ในชื่อ ‘อีสปอร์ต’ ทำให้คนต้องหันมามองใหม่ และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดหนังไทยที่เล่าเรื่องเด็กเล่นเกมที่ชื่อ ‘เกมเมอร์ เกมแม่’ หรือ ‘Mother Gamer’ นั่นเอง

ห้าสมาชิกทีม Ohmgaga ในหนัง Mother Gamer
ห้าสมาชิกทีม Ohmgaga ในหนัง ‘Mother Gamer’

เรื่องราวที่ได้รับแรงบันดาลมาจากเรื่องจริง ถูกดัดแปลงมาเป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของแม่ที่ฝึกหัดและตั้งทีมมาแข่งกับลูก ด้วยลีลาของผู้กำกับที่เคยฝากฝืมือไว้กับ ‘App War แอปชนแอป’ และ ‘2538 อัลเทอร์มาจีบ’ เขาคือ เสือ ยรรยง

ได้เวลา มานั่งชมภาพยนตร์เกี่ยวกับอีสปอร์ตเรื่องแรกของไทยกันละ!


เรื่องย่อหนัง ‘เกมเมอร์เกมแม่’

เรื่องของเรื่องมันเริ่มขึ้นมาจากสองแม่ลูกคู่หนึ่งที่ไม่เข้าใจกันด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง เบญจมาศ (อ้อม พิยดา) เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและเป็นคุณครูสอนเลขในโรงเรียนแห่งหนึ่ง เธอเจ้าระเบียบไปเสียทุกอย่าง จนวันหนึ่งเธอก็จับได้ว่า โอม (ตน ต้นหน) ลูกชายของเธอแอบเล่นเกมแถมยังเป็นโปรเพลเยอร์ที่แสนเก่งกาจ แม้เขาจะเป็นเด็กที่เรียนดีและสร้างความภาคภูมิใจมาให้ผู้เป็นแม่โดยตลอดก็ตาม

และเป้าหมายของโอมก็กลับเป็นเป้าหมายในวันที่ทับซ้อนของครูเบญ

ตัวอย่าง ‘เกมเมอร์ เกมแม่’ ซับไทย

วันที่เขาต้องสอบชิงทุนเพื่ออนาคตทางการศึกษาที่ผู้เป็นวางและวาดฝันเอาไว้ มันดันเป็นวันชิงชนะเลิศการแข่งขันเพื่อไปสู่การแข่งระดับโลกที่เกาหลี ด้วยเหตุนั้น แม่จึงรวบรวมทีมอีสปอร์ตเพื่อขัดขวางเส้นทางฝันของลูก และไม่เคยบอกลูกเรื่องการตั้งทีมนี้มาก่อน

และทีมอีสปอร์ตของแม่มีชื่อว่า Ohmgaga นำโดย กอบศักดิ์ (เติร์ด ลภัส งามเชวง สมาชิกวง Trinity) เด็กหลังห้องสุดเกรียนผู้ที่ทำผิดได้อีกเพียงครั้งเดียว แต่เขาคืออดีตโปรเพลเยอร์ที่เคยร่วมทีม Higher กับโอม มี มะปราง (วีรยา จาง หรือ วี BNK48 จากซีรีส์ ‘365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ’) แล้วก็ยังมี ไกด์ (บอส ธนบัตร), แบงค์ (นนท์ ศุภวัจน์) และแม็ก (เตชินท์ ณัฐชนน) และแน่นอน แม่เบญผู้ไม่เคยเล่นเกมเลยย่อมต้องเป็นตัวที่อ่อนสุดในทีม

จากนี้ การแข่งขันระหว่างทีมจะกลายเป็นสงครามที่วัดใจแม่ลูกในสมรภูมิแห่งเกม ROV


รีวิวหนัง ‘Mother Gamer’

จากภาพยนตร์เรื่อง ‘2538 อัลเทอร์มาจีบ’ ต่อกับ ‘App War แอปชนแอป’ ผู้กำกับคนนี้ เสือ ยรรยง เลือกจะมุ่งมั่นทำหนังที่มีเนื้อหาแตกต่างออกไป หลังเล่าเรื่องความหลังเรื่องเพลงในวัยวาน หันมาเล่าเรื่องของสตาร์ทอัปที่แข่งทำแอป คราวนี้เขาหันมาทำหนังที่เล่าเรื่องเกมและอีสปอร์ต

ความขัดแย้งระหว่างแม่กับลูก หนังครอบครัวบวกเกม

เริ่มต้นมันเป็นหนังของแม่กับลูกจริงๆ นะ เมื่อแม่เป็นแม่ที่ออกจะหัวโบราณ เจ้าระเบียบ และเคร่งครัดไปเสียทุกอย่าง ขนาดจัดตั้งโครงการเก็บมือถือของนักเรียนระหว่างอยู่ในโรงเรียน ลูกชายสอบได้อันดับหนึ่ง เธอดูไม่ค่อยจะใส่ใจแต่กลับจริงจังมากเมื่อรู้ว่าลูกชายเล่นเกมและไม่สนใจจะสอบชิงทุน การตัดสินใจตั้งทีมเพื่อไปชนกับลูก เป็นวิธีการขวางความฝันความสำเร็จของลูกอย่างหนึ่ง ซึ่งระหว่างดูก็ไม่รู้สึกเห็นด้วยสักเท่าไหร่

5 นักแสดงถ่ายรูปร่วมกันในงานรอบสื่อ
5 นักแสดงถ่ายรูปร่วมกันในงานรอบสื่อ

แต่เมื่อนั่งดูหนังไป มันเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องที่ชวนหวือหวาแม้มันจะแค่ปูๆ เรื่อง เขาพยายามสรรหาความแปลกใหม่ในเทคนิคการเล่าที่พอให้การเดินของเรื่องดูมีอะไรมากขึ้น ถัดจากนั้น เรื่องราวระหว่างทางมันเดินไปด้วยสูตรที่คุ้นชิน เสริมเติมแต่งด้วยภาพหวานของคู่จิ้น สลับด้วยภาพความขัดแย้งระหว่างแม่กับลูก ก่อนจะเข้าสู่เวลาของการแข่งขันที่มาพร้อมกับอุปสรรคต่างๆ นานา

ความพยายามของคนไม่เล่นเกมแต่จะทำหนังเกม

ด้วยความที่หนังมีแกนกลางเป็นเรื่องครอบครัวที่น่าจะเกาะกุมกลุ่มเป้าหมายวงกว้างได้ แต่เรื่องราวมันเกาะเกี่ยวด้วยเรื่องราวของเกมที่ลูกชายสมัครเข้าแข่งขันเกมแทนที่จะสนใจสอบชิงทุนอย่างใจแม่หวัง จนแม่ต้องสร้างทีมขึ้นมาแข่งกับทีมลูก หนังที่ใช้เกม ROV เป็นส่วนหลักในการขับเคลื่อนเรื่อง ตรงนี้อาจเป็นกำแพงที่ใหญ่พอดูสำหรับผู้ชม เพราะกลุ่มคนที่เล่นเกมก็มีมากมายอยู่แต่คนกลุ่มใหญ่เช่นกันที่ไม่ได้เล่นเกม

ผู้กำกับผู้ไม่เล่นเกมก็คงเข้าใจในข้อนี้ เลยคิดว่าจะทำยังไงให้กลุ่มคนที่ไม่เล่นเกมทำความเข้าใจและเข้าถึงไปกับเรื่องราวได้ หนังจึงออกมาในทางที่ทำตัวละครให้ออกท่าออกทางสู้กัน ซึ่งแน่นอนว่าต้องพึ่งและใช้ CG เพื่อให้ได้ภาพที่ดูเข้ากับความเป็นเกม

ส่วนหนึ่งมันทำให้ผู้ชมเข้าใจเกมมากขึ้น

ตน ต้นหน ในหนัง Mother Gamer
ตน ต้นหน ในหนัง ‘Mother Gamer’

แต่พอภาพบนจอมันเป็นเกมจริงๆ คนที่ไม่ได้เล่นเกมอย่างผมก็ยังจะมีปัญหาในการมองว่าตัวไหนเป็นตัวไหนและกำลังเล่นด้วยกลยุทธ์ไหนอยู่อยู่ดี เพราะภาพตรงนั้นมันไวและถ้าไม่ใช่คนที่เล่นเกมมาก่อน ก็ยากที่จะมองปราดเดียวแล้วเข้าใจ

อีกจุดหนึ่งที่รู้สึกก็คือ นี่มันเป็นสไตล์หนังกีฬา มีการแข่งเป็นสายๆ ชนะแล้วเข้ารอบไปพบกัน เหลือสองทีมที่คู่คี่สูสีเดาไม่ออกว่าใครจะชนะใคร ซึ่งการเล่าเรื่องแบบนี้มันดูเป็นสิ่งธรรมดาที่คาดเดาได้

และมันก็เป็นสิ่งธรรมดาที่ชักชวนให้คนร่วมลุ้มไปกับมันเช่นกัน

อ้อม พิยดา เดอะแบก, วีรยา คิวต์พ่อง!

จุดที่ต้องชื่นชมก็คือตัวนักแสดงที่ไม่ว่าจะมือเก่ามือใหม่ก็ถือว่าทำโจทย์ออกมาได้ดีตามคาแรกเตอร์ของตน โดยเฉพาะคนนี้ อ้อม พิยดา มือเก๋าที่สุด เธอมารับบทแม่ที่ทั้งเจ้าระเบียบ เคร่งทั้งในโรงเรียนทั้งในบ้าน ผู้ไม่เคยเข้าใจในการชื่นชอบในการเล่นเกมของลูก น่าเสียดายที่ช็อตดราม่ายังทำไม่ถึงขั้นอิน

อ้อม พิยดา ในหนัง Mother Gamer
อ้อม พิยดา ในหนัง ‘Mother Gamer’

ถัดมาก็เป็นคู่จิ้นคู่ใหม่ เติร์ด-วี ที่ต้องบอกว่าเคมีดูเข้ากันดีและเป็นบทพิสูจน์ว่า วีรยา จาง บนจอยักษ์ก็ขึ้นมากไม่แพ้ในจอทีวี ฉากที่วีแต่งหน้าบนจอยักษ์นั้นเรียกว่าคิวต์มาก ส่วนคิวต์พ่อง! นี่น่าจะล้อเล่นหนังเรื่องก่อน กริ๊วพ่อง! นั่นแหละ แม้บทของเธอจะยังไม่เปิดให้เล่นอะไรที่ทำให้เห็นความสามารถมากนัก แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ส่วนเติร์ดและตน ต่างก็มีเวลาที่ได้โชว์ของของตนคนละนิดคนละหน่อย ส่วนคนที่มาเสริมโดยไม่รู้ตัวมาก่อนอย่าง เกลือ กิตติ เชี่ยววงศ์กุล นับว่าสร้างสีสันให้กับเรื่องพอสมควร ทั้งเป็นการตอกย้ำให้รู้สึกว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่เข้าใจเด็กน้อยทั้งๆ ที่ควรจะเป็นพื้นที่ที่เข้าใจเด็กมากที่สุดก็ตาม

ถือว่าดี แต่ก็ยังไม่ได้ถูกใจไปซะทุกอย่าง

โดยรวมแล้วถือว่าหนังทำออกมาได้สนุกพอสมควร ชวนลุ้นชวนติดตามว่าสุดท้ายมันจะจบลงเช่นไร แต่ก็ดูเหมือนระหว่างจะมีอะไรที่ตะขิดตะขวงใจพอดู

บางอย่างคงต้องให้คนที่เล่นเกม คอเกม หรือผ่านการเล่นเกมนี้มาบ้างได้ออกปากวิจารณ์ เพราะถ้าตามประสาคนที่ไม่เคยเล่นก็อาจจะมองไม่เห็น การที่ให้คนที่เล่นไม่เก่ง จู่ๆ มาเล่นตัวที่ไม่รู้จักไม่ถนัดจะสามารถควบคุมได้ดีนั้นอาจเป็นเรื่องที่เชื่อได้ยาก

โปสเตอร์หนัง เวอร์ชันล่าสุดของ Mother Gamer
โปสเตอร์หนัง เวอร์ชันล่าสุดของ ‘Mother Gamer’

—– หลายประเด็นอาจเป็นสปอยล์ ข้ามได้เชิญข้ามไปก่อน —–

หนังมักจะเล่นในประเด็นที่แม่เป็นผู้ริเริ่มโครงการห้องเรียนปลอดมือถือและโครงการนี้ก็ยังคงอยู่จนจบเรื่อง แต่กลับไม่รู้สึกว่าประเด็นนี้จะเอาไปใช้เล่นอะไรต่อ นอกจากได้เห็นว่าสุดท้าย แม่ก็เล่นมือถือเสียเอง

หรือบางจุดที่เป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องราวอย่างการตัดสินใจของครูใหญ่ เราก็ยังไม่เห็นที่มาที่ไปของการตัดสินใจเช่นนั้น แรงจูงใจคืออะไรเรากลับไม่เห็น

ในเรื่องไดเรกชั่นอะไรเราไม่ได้สนใจมาก ลูกเล่นที่แต่งเติมเข้ามาเพื่อให้มันมีสีสันอันนั้นเราไม่ได้ติดใจ แต่สิ่งที่สะดุดก็จะเป็นช่วงที่ตัวละครจะมาฟาดฟันกันเองนั่น มาพร้อมกับ CG ที่จัดเต็มแต่ก็มักเล่นด้วยท่าสโลว์โมชันที่ชวนให้รู้สึกว่าหนังให้เวลากับมันนานไป แทนที่จะไปให้เวลาในการเชื่อมโยงเรื่องราวให้มันสมูธกว่านี้ อธิบายบางอย่างมากกว่านี้สักหน่อย อาจจะช่วยทำให้หลายๆ พาร์ตชวนอินมากขึ้น

สรุปว่าหนังชวนให้ติดตามไปได้จนจบ แต่ยังไม่กลมกล่อมพอนั่นเองครับ!


ภาพยนตร์เรื่อง: Mother Gamer / เกมเมอร์เกมแม่
ผู้กำกับภาพยนตร์: ยรรยง คุรุอังกูร
ผู้เขียนบท:
นักแสดงนำ: อ้อม – พิยดา อัครเศรณี,เติร์ด – ลภัส งามเชวง, ตน – ต้นหน ตันติเวชกุล, วีรยา จาง (วี BNK48), ธนบัตร งามกมลชัย
ดนตรีประกอบ:
ความยาว: 118 นาที
ปี: 2020
แนว/ประเภท: Action
อัตราส่วนภาพ:
ประเทศ: ไทย
เรท: ไทย/น15+, MPAA/-
วันที่เข้าฉายในประเทศไทย: 10 กันยายน 2020
สตูดิโอ/ผู้สร้าง/ผู้จัดจำหน่าย:  Get More Film, Hidden Agenda, สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล

Mother Gamer

บทและพล็อต - 6.5
การแสดง - 7.8
เพลง/ดนตรีประกอบ - 7.4
การดำเนินเรื่อง - 6.7
งานภาพ - 7.3

7.1

เกมเมอร์ เกมแม่

หนังไทยเรื่องแรกที่เล่าเรื่องอีสปอร์ต มีความพยายามอยู่สูงที่จะทำให้คนทั่วไปที่ไม่เล่นเกมสามารถเข้าถึงและเข้าใจเรื่องราวได้ เคมีของคู่จิ้น เติร์ด-วี ถือว่ากันดีและวีรยาขึ้นกล้องมาก อ้อม พิยดา สวมบทบาทเป็นครูและแม่ที่เอาอยู่กับบทที่จริงจังและพยายามเข้าถึงลูกชาย หนังยังคงเดินตามสูตรหนังกีฬาที่ต้องมีการแข่งขัน แบ่งสายและสุดท้ายมาเจอะเจอกัน แต่หลายอย่างยังดูไม่ลงตัวและชวนตะขิดตะขวงอยู่ในหลายสิ่งปลีกย่อยของเรื่องราว

User Rating: 5 ( 1 votes)

PatSonic

บล็อกเกอร์ผู้ชอบดูหนังหลากแนว ฟังเพลงหลายสไตล์ มีเวลาว่างก็จะออกไปท่องเที่ยว บางเวลาก็หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หยิบซีรีส์ขึ้นมาดู แล้วก็จะหยิบมาเขียนให้ทุกคนได้อ่านกัน
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Adblock Detected

เนื่องจากบล็อกนี้อยู่ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อผู้เยี่ยมชม รบกวนไม่ใช้ Ad Blocker เพื่อการเยี่ยมชมที่สมูธครับ