ศิลปะการวาดภาพนั้นจะว่าไปก็จำแนกออกเป็นหลากหลายแขนงแล้ว แต่สำหรับคนญี่ปุ่น พวกเขายังแยกย่อยลงไปในแขนงที่ไม่รู้มาก่อนได้อีก อย่างเช่น ศิลปะการวาดภาพด้วยน้ำหมึก ที่เกิดจากการใช้พู่กันแบบต่างๆ ที่จุ่มน้ำหมึกแล้วปาดลงไปบนกระดาษขาว เพื่อสร้างเส้นสายที่งดงามและแสดงอารมณ์ได้ตามใจผู้วาด และมันได้ถูกนำมาขีดเขียนเป็นเรื่องราวในหนังญี่ปุ่นเรื่องนี้ ‘The Lines That Define Me’ หรือชื่อไทย ‘เส้นปาดที่วาดฉัน’
ความคิดเห็นส่วนตัวของนายแพท
หนังญี่ปุ่นที่ชวนประทับใจด้วยลีลาการเล่าที่ผสานกันค่อนข้างดีระหว่างงานภาพ เรื่องราว นักแสดงนำ และดนตรีประกอบ มันเล่าถึงชายหนุ่มที่มีปมด้านความสูญเสียคนในครอบครัว ที่เกิดไปสร้างความประทับใจจนทำให้ปรมาจารย์ด้านนี้ถึงกับออกปากรับเป็นศิษย์ หนังพาเราไปรู้จักกับสิ่งใหม่อย่างศิลปะภาพวาดน้ำหมึกที่เราอาจไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่ พร้อมกับได้ดูเรื่องราวที่เดินอย่างไหลลื่น มีเซอร์ไพรซ์ตามรายทาง และมีดนตรีประกอบที่เรียบเรียงมาจากมินิมอลไพเราะโดนใจ เป็นผลงานการแสดงของ ริวเซย์ โยโกฮามะ กับ คายะ คิโยฮาระ
ที่ต้องบอกว่า คนหลังนี่สวยโดนใจอย่างมาก กลายเป็นอีกหนึ่งสีสันชวนประทับใจได้เลยแหละ
เรื่องย่อหนัง ‘The Lines That Define Me’
โซซุเกะ อาโอยามะ (Ryusei Yokohama จากซีรีส์ ‘Ressha Sentai ToQger’ และหนังเรื่อง ‘Akira and Akira’) ชายหนุ่มที่เรียนนิติแต่ไม่ได้มีความสนใจจะเป็นทนาย ในวันที่เขาไปช่วยงานจัดนิทรรศการภาพวาดน้ำหมึก หรือที่เรียกว่า ซึมิเอะ เขาได้รับคำชักชวนที่น่าประหลาดใจจากปรมาจารย์ด้านภาพวาดน้ำหมึกอย่าง โคซัง ชิโนดะ (Tomokazu Miura จากหนังเรื่อง ‘Perfect Days’ และ ‘Detective Chinatown 3’) ให้มาเป็นลูกศิษย์
การได้มาเรียนที่นี่ ทำให้เขาได้รู้จักกับ จิอากิ ชิโนดะ (Kaya Kiyohara จากหนังแอนิเมชันเรื่อง ‘Josee, the Tiger and the Fish’) หลานสาวของเซ็นเซที่มีชื่อเสียงในหมู่นักศึกษามากพอสมควร แต่ที่สำคัญก็คือ มันทำให้โซซุเกะได้เรียนรู้จักกับอารมณ์และพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ในน้ำหมึกที่ปาดไปบนเยื่อกระดาษสีขาว ที่ดูเหมือนจะช่วยพาเขาก้าวข้ามความเจ็บปวดจากการสูญเสียบุคคลในครอบครัว
รีวิวหนัง ‘เส้นปาดที่วาดฉัน’
ชนชาติในแถบเอเชียตะวันออกเนี่ย เขามีการใช้พู่กันกับน้ำหมึกในการเขียนตัวอักษรนั้นเรารู้เห็นกันอยู่แล้ว แต่การใช้อุปกรณ์ชนิดเดียวกันมาปาดและวาดเป็นภาพนั้นอาจไม่คุ้นเคยนัก ศาสตร์ชนิดนี้ถูกเรียกว่า ซึมิเอะ (Sumi-e) หรือถ้าเรียกเป็นไทยก็คือ ภาพวาดน้ำหมึก ภาพที่ออกมาจะเป็นสีเดียวคือสีดำของน้ำหมึก แต่อาจจะเป็นสีเข้ม-อ่อนที่เผยให้เห็นเป็นแสงเงา บ้างก็เป็นการวาดภาพเหมือนจากสิ่งของที่มีอยู่จริง อาจถ่ายทอดองค์ประกอบของพืชพรรณและฤดูกาล และบ้างก็เป็นการวาดจากจินตนาการ มีการคิดค้นสร้างลักษณะของพู่กันแบบต่างๆ ที่จะมีผลต่อรูปลักษณ์ไม่ต่างอะไรกับ brush ใน Photoshop และเลยไปละเอียดถึงขึ้นการฝนน้ำหมึกให้ได้ลักษณะที่ต้องการอีกต่างหาก
หนังเรื่องนี้ทำให้เราได้มองเห็นถึงการสะบัดพู่กันสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับภาพวาดน้ำหมึก ที่สามารถบ่งบอกถึงอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดในของผู้วาดได้อีกต่างหาก เมื่อหนังเริ่มเล่าถึงพระเอกของเรื่องก่อนใครอื่นเลย โซซุเกะ อาโอยามะ ชายหนุ่มผู้ร่ำไห้ยามได้เห็นภาพวาดน้ำหมึก ก่อนที่ปรมาจารย์ด้านซึมิเอะจะเอ่ยคำชักชวนให้เป็นศิษย์ นั่นแหละหมัดฮุคแรกๆ ของหนังที่จัดมาอย่างเร็ว ปลุกความสนใจต่อเรื่องราวต่อในทันที
สิ่งสำคัญต่อมาก็คือว่า เซนเซที่มองเห็นผลงานชิ้นแรกๆ ของศิษย์ก็รู้ได้ทันทีว่า ชายหนุ่มคนนี้มีความเจ็บปวดฝังลึกอยู่ข้างใน และมันก็เป็นจริง โซซุเกะยังคงร้องไห้เสียใจทุกครั้งที่มีอะไรมาสะกิดให้นึกถึงการสูญเสียบุคคลในครอบครัว ใช่แล้ว ภาพวาดน้ำหมึกจะแสดงออกถึงจิตวิญญาณของผู้วาด เซนเซจึงใช้มันเพื่อช่วยให้ศิษย์ก้าวข้ามความเจ็บปวดนั้น ความที่มันมีแง่มุมเรื่องครอบครัว มันจึงสามารถทัชกับหัวใจของเราได้ หยดน้ำตาที่ไหลรินของตัวละครทำเราน้ำตาคลอราวกับเป็นหนึ่งคนที่สูญเสียเช่นกัน
นอกเหนือไปจากศิลปะที่จะเยียวยาจิตใจของชายหนุ่มคนหนึ่งได้แล้ว หนังก็ยังพาเราไปทำความรู้จักกับหญิงสาวอีกคน ที่มีฝีมือเป็นดาวรุ่งในวงการภาพวาดน้ำหมึก ผู้ใช้นามแฝงว่า “จิอากิ” ซึ่งที่แท้ก็เป็นหลานสาวของเซนเซนั่นเอง แต่เป็นหลานสาวที่ดูเหมือนไม่ค่อยลงรอยกับคุณปู่สักเท่าไหร่
เรื่องราวเดินสนุกเกือบตลอดเรื่อง จะมีบ้างก็ช่วงกลางๆ ที่อาจจะแผ่วหน่อย ก่อนจะกลับมาน่าสนใจได้อีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือ คนญี่ปุ่นนี่ เวลาเขาใส่ใจอะไร เขาจะเจาะจงลงลึกในรายละเอียดจริงจังอย่างที่สุด ศิลปะการวาดภาพที่จำเพาะไปที่การวาดด้วยน้ำหมึกและพู่กันที่ถูกคิดค้นให้สร้างลักษณะของการปาดที่หลากหลาย
ความโดดเด่นของหนังก็มีอยู่หลายประการ เริ่มจากหนังเล่าเรื่องศิลปะที่เราเพิ่งได้รู้จัก จากนั้น ก็เล่าเรื่องให้ตัวละครชายหนุ่มที่มีปมในใจและเมื่อสัมผัสกับศิลปะก็เหมือนได้พบกับแรงบันดาลใจใหม่ ก้าวข้ามความเจ็บปวดได้ ทำให้กลายเป็นตัวละครที่มีพัฒนาการซึ่งแตกต่างจากบางเรื่องที่ตัวละครแทบไม่ไปไหน ตัวละครที่ชอบนอกเหนือจะโซซุเกะ ก็คงจะเป็นจิอากิ เพราะคายะคนที่แสดงเป็นตัวนี้ นายแพทรู้สึกได้ถึงความมีเสน่ห์ชวนมองเป็นอย่างมาก เป็นตัวละครวัยเดียวกันที่เข้ามาให้อะไรและได้รับอะไรกลับไป เหมือนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับโซซุเกะ
อีกส่วนหนึ่ง ก็เป็นหนังที่ถ่ายภาพออกมาสวยงาม ประสานไปกับดนตรีประกอบเพราะๆ ที่เรียบเรียงมาในแบบมินิมอลโดนใจ [ลองฟังเปล่าๆ โดยไม่มีหนังยิ่งชอบมากขึ้นไปอีกจริงๆ นะ] การเล่าเรื่องก็ถือว่าค่อนข้างไหลลื่น มีช็อตเซอร์ไพรซ์ระหว่างทาง ก่อนจะใส่เพลงที่เติมพลังในช่วงเครดิตปิดท้าย
โดยรวมแล้ว สำหรับคนที่รักศิลปะและชื่นชอบหนัง มันพาเราไปยังโลกใหม่ที่เพิ่งได้รู้จักและรักมันได้ไม่ยาก แม้จะยังไม่ขึ้นกลมกล่อมเสียทีเดียว แต่ก็เป็นหนังญี่ปุ่นเรื่องที่ประทับใจใน ‘เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2567’ ที่จัดขึ้น ณ โรงภาพยนตร์ House สามย่าน ครับผม
รายละเอียดเกี่ยวกับหนัง
ชื่อภาพยนตร์ | The Lines That Define Me / เส้นปาดที่วาดฉัน / 線は、僕を描く |
กำกับ | Norihiro Koizumi |
เขียนบท | Sho Kataoka, Norihiro Koizumi, Hiromasa Togami (ผู้เขียนนิยาย) |
แสดงนำ | Yosuke Eguchi, Kanata Hosoda, Sora Inoue, Kaya Kiyohara, Ryusei Yokohama, Yasuko Tomita, Tomokazu Miura |
แนว/ประเภท | ดราม่า |
เรท | |
ความยาว | 106 นาที |
ปี | 2022 |
สัญชาติ | ญี่ปุ่น |
เข้าฉายในไทย | 3 กุมภาพันธ์ 2024 [ในเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2567] |
ผลิต/จัดจำหน่าย |
คะแนนรีวิวหนัง เส้นปาดที่วาดฉัน
พล็อตและบท - 7.3
การดำเนินเรื่อง - 7.8
การแสดง - 7.3
เพลงและดนตรีประกอบ - 8.5
งานถ่ายภาพและโปรดักชั่น - 7.6
7.7
The Lines That Define Me
หนังญี่ปุ่นที่ชวนประทับใจด้วยลีลาการเล่าที่ผสานกันค่อนข้างดีระหว่างงานภาพ เรื่องราว นักแสดงนำ และดนตรีประกอบ มันเล่าถึงชายหนุ่มที่มีปมด้านความสูญเสียคนในครอบครัว ที่เกิดไปสร้างความประทับใจจนทำให้ปรมาจารย์ด้านนี้ถึงกับออกปากรับเป็นศิษย์ หนังพาเราไปรู้จักกับสิ่งใหม่อย่างศิลปะภาพวาดน้ำหมึกที่เราอาจไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่ พร้อมกับได้ดูเรื่องราวที่เดินอย่างไหลลื่น มีเซอร์ไพรซ์ตามรายทาง และมีดนตรีประกอบที่เรียบเรียงมาจากมินิมอลไพเราะโดนใจ