เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น ประจำปี 2568 พัดผ่านมาถึงชาวกรุงเทพฯ แล้ว แม้ผมอาจจะไม่ได้ผ่านไปดูมันที่โรงหนังเฮ้าส์ สามย่าน สักเท่าใดนัก เรื่องแรกที่ดูไป ‘Samurai in Time’ ก็ไม่ได้หยิบมาเขียนถึง จนผ่านมาถึงเรื่องที่สอง ‘All the Long Nights’ หรือชื่อไทย ‘ทุกคืนนานจะผ่านไป’ ซึ่งต้องบอกว่า งานดีจนไม่อาจอดใจเก็บไว้ไม่ขีดเขียนถึง
คิดเห็นเช่นไรกับหนังญี่ปุ่นเรื่องนี้?
หนังญี่ปุ่นที่ไม่ได้เข้าโรงฉายตามรอบปกติ แต่หาชมได้ในเทศกาลหนังญี่ปุ่น เรื่องราวดีดีที่เล่าได้แตกต่างไปจากหนังเรื่องอื่น เมื่อชายกับหญิงผู้มีปัญหาการควบคุมอารมณ์เหมือนกัน ได้มาเจอในที่ทำงานเดียวกัน ต่างคนต่างช่วยเหลือประคับประคองซึ่งกัน แถมอยู่ในออฟฟิศที่มีแต่คนเข้าใจ พาให้พวกเขาปรับตัวปรับใจเพื่อจะอยู่สังคมอย่างมีความสุขได้มากขึ้น
แม้ว่าอารมณ์ของหนังจะเดินไปอย่างเนือยๆ ดนตรีประกอบไม่เร่งเร้าแต่มีกลิ่นอายของการปลอบประโลม กลับทำงานได้ดีกับเรา ไม่มีช่วงไหนให้รู้สึกง่วงเลย แถมยังรู้สึกให้กำลังใจตัวละครได้ด้วยซ้ำ
เรื่องย่อหนัง ‘All the Long Nights’
มันคือเรื่องราวการพบกันของสองหนุ่มสาวที่ต่างต้องเผชิญกับแรงกดดันและความยากลำบากในชีวิต มิสะ ฟูจิซาวะ (โมเนะ คามิชิราอิชิ เจ้าของเสียงพากย์ในหนัง ‘Your Name.’, ‘Wolf Children’ และ ‘Weathring with You’) คือหญิงสาวที่ประสบกับปัญหา PMS หรือการไม่สามารถควบคุมภาวะอารมณ์ของตนเองในช่วงมีประจำเดือนได้ ทำให้ต้องลาออกจากงาน จนมาเจอบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำให้เธอได้เจอกับเขา
ทากาโยชิ ยามาโซเอะ (โฮคูโตะ มัตสึมูระ จากหนังเรื่อง ‘Suzume’ และ ‘Kyrie’) ชายหนุ่มที่ต้องเผชิญกับปัญหาในตัวเอง เขามีอาการแพนิค กลัวการขึ้นรถไฟ ในที่ทำงานปัจจุบัน เขานั่งอยู่ข้างฟูจิซาวะ สองคนที่มีปัญหากันคนละอย่าง แต่ใช้ยาตัวเดียวกัน ความสัมพันธ์แบบเอื้ออาทรจึงบังเกิดขึ้น
รีวิวหนัง ‘ทุกคืนนานจะผ่านไป’
หนังเรื่องนี้เข้าฉายในบ้านเราด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลหนังญี่ปุ่น จึงไม่ได้มีรอบฉายมากนัก แต่ผมชอบชื่อหนังเรื่องนี้นะ ภาษามันสวยดี หนังอันแสนงดงามเรื่องนี้ ที่จะทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับความอ่อนโยนของการอยู่ร่วมกันในสังคม มันเป็นเรื่องของมนุษย์ต่างเพศสองคนที่เผชิญกับปัญหาการควบคุมภาวะทางอารมณ์กันคนละอย่าง ต่างต้องเผชิญกับแรงกดดันแต่ได้มาทำงานที่เดียวกัน และต่างคนต่างเข้าอกเข้าใจและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ฟูจิซาวะ มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ในช่วงมีเมนส์ (หรือที่เราเรียกว่า PMS นั่นแหละ) เธอมักจะปรี๊ดแตกได้เสมอซึ่งทำให้มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคม ในที่สุด หลังเพิ่งทำงานได้ 2 เดือน เธอก็จำใจต้องลาออกจนมาได้ทำงานที่ใหม่ เป็นพนักงานในบริษัทผลิตสินค้าส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเยาวชน ที่นี่ ดูทุกคนจะเข้าใจในปัญหาที่เธอเป็น
เช่นเดียวกับ ยามาโซเอะ เขาเป็นโรคแพนิค ซึ่งส่งผลต่อหลายสิ่งในชีวิตของเขาอย่างมาก ทั้งไม่กล้าจะขึ้นรถไฟ จนต้องเดินไปกลับที่ทำงาน กินอะไรก็ไม่รับรู้รส จนกลายเป็นคนที่ชอบกินน้ำอัดลมรสจืด เมื่อไรอาการแพนิคกำเริบ ร่างของเขาจะทรุดลงและทำอะไรไม่ได้ เป็นอาการที่ถ้าผู้คนไม่เข้าใจก็จะกลายเป็นรำคาญ
สองคนที่แม้จะต่างอาการ แต่ก็ใช้ยาเดียวกัน ทำงานอยู่ข้างกัน และต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เอาจริงๆ ผมเองก็ยังไม่เคยได้สัมผัสกับหนังของ โช มิยาเกะ เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องแรกเลยมั้ง ผลงานก่อนหน้าของเขาอย่าง ‘Small, Slow but Steady’ ก็ได้รับการยกย่องในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ แต่หนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายของไมโกะ เซโอะ ผู้ชนะรางวัลหนังสือขายดีจากผลงานเรื่อง ‘And So the Baton is Passed’) เรื่องนี้ ที่เล่าอย่างค่อนข้างเรียบเรื่อยเนือยช้า ดนตรีประกอบมินิมอลหากอบอุ่นปลอบประโลมแกมให้กำลังใจ ก็สร้างความประหลาดใจให้ตัวเอง เพราะมันไม่ได้ทำให้ง่วงงุ่นแต่อย่างใด
สถานที่ทำงานในเรื่องกลายเป็นพื้นที่สำคัญ ที่ทำให้คนที่รับมือกับปัญหาเพียงลำพังไม่ไหว มันกลายเป็นเซฟโซนที่ทำให้เขาได้มีเวลาในการปรับตัวปรับใจ และมันทำให้หนังญี่ปุ่นเรื่องนี้ที่มีความ slice of life ใส่ความฟีลกู๊ดผสมเข้าไป แต่แตกต่างจากหนังญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ที่มักจะบอกให้ตัวละครต้องเข้มแข็ง ต้องเป็นแรงผลักดันให้คนอื่นได้แม้ข้างในจะอ่อนแรงแค่ไหนก็ตาม
แต่เรื่องนี้ บอกกับพวกเขาและพวกเราทุกคนว่า นอกจากแรงใจภายในของพวกเราที่ต้องแข็งแกร่งแล้ว อีกแรงที่เป็นพลังใจชั้นดีก็คือคนรอบข้างนี่แหละ
อีกสิ่งที่หนังเรื่องนี้บอกกับเราคือ มันไม่ได้เดินทางแบบที่เราคุ้นเคยมา ชายหญิงคือคนต่างเพศที่เมื่อไรที่อยู่ใกล้ชิดกันก็มักถูกบอกเล่าในเชิงโรแมนติกเสมอ แต่ฟูจิซาวะและยามาโซเอะต่างเข้าหาเพื่อดูแล ให้กำลังใจ และปลอบประโลมซึ่งกัน ไม่ต้องมีเรื่องความรักมาเกี่ยวข้อง แล้วก็ยังมีอีกสิ่งคือ หนังบอกว่าเราไม่ควรจะไปตัดสินใคร คนที่เห็นว่าเขาปกติดีมากมายอาจกำลังสู้อยู่กับความเจ็บปวดบางอย่างอยู่เบื้องหลังก็ได้ หนังจึงเป็นทั้งการบอกให้ทุกคนเข้มแข็งจากภายใน และบอกให้สังคมรอบข้างเข้าใจและโอบอุ้มพวกเขาผ่านพ้นเรื่องเลวร้ายไปได้เช่นกัน
ค่ำคืนมืดมืดที่ผ่านเข้ามาชั่วระยะหนึ่ง แต่สักวัน เมื่อมองเห็นแสงแห่งรุ่งอรุณ ความมืดมิดนั้นจะผ่านพ้นไป
รายละเอียดเกี่ยวกับหนัง
ชื่อภาพยนตร์ | All the Long Nights / ทุกคืนนานจะผ่านไป |
กำกับ | Shô Miyake |
เขียนบท | Shô Miyake, Maiko Seo, Kiyohito Wada |
แสดงนำ | Hokuto Matsumura, Mone Kamishiraishi, Sawako Fujima |
แนว/ประเภท | ดราม่า |
เรท | |
ความยาว | 119 นาที |
ปี | 2024 |
สัญชาติ | ญี่ปุ่น |
เข้าฉายในไทย | ในเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2568 [7 – 16 กุมภาพันธ์ 2025] |
ผลิต/จัดจำหน่าย | Asmik Ace Entertainment, Bandai Namco Filmworks, Horipro, KDDI Corporation, The Fool |
คะแนนรีวิวหนัง ทุกคืนนานจะผ่านไป
พล็อตและบท - 8.5
การดำเนินเรื่อง - 8.5
การแสดง - 9
งานถ่ายภาพ เทคนิคพิเศษและโปรดักชั่น - 8
เพลงและดนตรประกอบ - 8.5
8.5
All the Long Nights
หนังญี่ปุ่นที่ไม่ได้เข้าโรงฉายตามรอบปกติ แต่หาชมได้ในเทศกาลหนังญี่ปุ่น เรื่องราวดีดีที่เล่าได้แตกต่างไปจากหนังเรื่องอื่น เมื่อชายกับหญิงผู้มีปัญหาการควบคุมอารมณ์เหมือนกัน ได้มาเจอในที่ทำงานเดียวกัน ต่างคนต่างช่วยเหลือประคับประคองซึ่งกัน แถมอยู่ในออฟฟิศที่มีแต่คนเข้าใจ พาให้พวกเขาปรับตัวปรับใจเพื่อจะอยู่สังคมอย่างมีความสุขได้มากขึ้น แม้ว่าอารมณ์ของหนังจะเดินไปอย่างเนือยๆ ดนตรีประกอบไม่เร่งเร้าแต่มีกลิ่นอายของการปลอบประโลม กลับทำงานได้ดีกับเรา ไม่มีช่วงไหนให้รู้สึกง่วงเลย แถมยังรู้สึกให้กำลังใจตัวละครได้ด้วยซ้ำ