วันนี้วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2024 เป็นวันแรกของเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2567 (Japanese Film Festival 2024 – JFF2024) งานเทศกาลหนังจากญี่ปุ่นที่จัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์ House สามย่าน และภาพยนตร์เปิดเทศกาลก็คือเรื่องนี้ ‘Father of the Milky Way Railroad’ หรือชื่อไทย ‘คุณพ่อแห่งทางเดินรถไฟสายทางช้างเผือก’ วันนี้ นายแพทตามมาดูเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเพราะชื่นชอบในฝีมือการแสดงของ Koji Yakusho กับหนังที่เล่าเรื่องเชิงชีวประวัติและดัดแปลงมาจากหนังสือ
ความเห็นส่วนตัวของนายแพท
ผลงานการกำกับของ อิซูรุ นารูชิมะ ที่บอกเล่าเรื่องราวแนวชีวประวัติของ เคนจิ มิยาซาวะ กวีและนักประพันธ์ระดับตำนาน นักเขียนหนังสือสำหรับเด็กที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น ด้วยโปรดักชันที่ดีงาม บวกกับการแสดงที่ยอดเยี่ยม ท่ามกลางความเนิบช้าของการเดินเรื่องและเรื่องราวที่ค่อนข้างเมโลดราม่า แต่หนังก็บ่งบอกถึงพลังของความเป็นครอบครัวไว้อย่างชัดเจน ทั้งใส่แง่คิดถึงเรื่องการค้นหาตนเอง และการทำอะไรสักอย่างเพื่อประโยชน์กับคนอื่น
ชอบซีนเปิดและซีนปิดท้ายมากทีเดียว มันเป็นซีนรถไฟเหมือนกันแต่ให้อารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เรื่องย่อหนัง ‘Father of the Milky Way Railroad’
หนังเล่าเรื่องราวของ มาซาจิโระ มิยาซาวะ (Koji Yakusho จากหนังเรื่อง ‘Perfect Days’) ชายผู้เป็นเจ้าของกิจการโรงรับจำนำ ที่ได้รับสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เขามีลูกชายคนโตชื่อ เคนจิ (Masaki Suda จากหนังเรื่อง ‘A Hundred Flowers’ และ ‘The Boy and the Heron’) และลูกสาวที่ชื่อ โทชิ (Nana Mori จากหนังเรื่อง ‘Insomniacs After School’) แม้มาซาจิโระจะคาดหวังให้เคนจิรับช่วงต่อกิจการในวันที่ตนวางมือแล้ว แต่ก็ดูเหมือนเคนจิจะสนใจในเส้นทางที่แตกต่างไป
เคนจิตอบปฏิเสธที่จะดูแลกิจการโรงรับจำนำต่อจากพ่อ แต่มาซาจิโระก็ไม่ได้บีบคั้นอะไร เขายินดีให้ลูกชายคนโตของตนเองได้ศึกษาเล่าเรียนตามที่ลูกชายสนใจ แม้เคนจิจะชื่นชอบในการเขียนนิยายด้วยจินตนาการที่บรรเจิด แต่เขาก็มักจะหันไปสนใจเรื่องใหม่ๆ ได้เสมอ ขณะที่โทชิเป็นหญิงสาวที่ฉลาดและกลายมาเป็นครู ทั้งยังเคยบอกเล่าถึงความคิดของตัวเองที่มีต่อพี่ชาย แต่อยู่มาวันหนึ่ง โทชิก็เกิดป่วยหนัก
รีวิวหนัง ‘คุณพ่อแห่งทางเดินรถไฟสายทางช้างเผือก’
หนังแนวชีวประวัติเรื่องนี้ย้อนไกลกลับไปยังญี่ปุ่นในยุคเมจิ เล่าเรื่องราวก่อนที่ญี่ปุ่นจะมีนักประพันธ์ชื่อดังอย่าง เคนจิ มิยาซาวะ เขาเกิดมาเป็นลูกชายคนโตของ มาซาจิโระ เจ้าของโรงรับจำนำที่ร่ำรวย พ่อที่เห่อลูกชายคนโตสุดฤทธิ์ ทำได้ทุกอย่างเพื่อลูกโดยไม่ได้มองว่านั่นต้องเป็นงานของฝ่ายหญิงผู้เป็นภรรยา เมื่อเติบใหญ่ขึ่นมา ผู้เป็นพ่อต้องการให้ลูกชายคนโตสืบทอดกิจการของครอบครัว ทุกอย่างดำเนินไปขนบหรือแนวคิดของคนในยุคนั้นๆ
แต่เพราะเป็นคนสมัยใหม่ในยุคนั้น จึงไม่ได้เร่งเร้าให้ลูกชายต้องทำตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา หากส่งเสริมให้เรียนต่อ จนลูกชายมีความคิดที่ก้าวหน้า ไอเดียใหม่ๆ ของเคนจิผุดขึ้นมาทุกครั้ง เขาบอกเล่าความคิดนั้นด้วยสายตาที่เปล่งประกาย และแน่นอนว่า ทุกไอเดียที่เขาฝันอยากจะทำอยากจะเป็น ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับโรงรับจำนำเลยสักครั้งเดียว
เคนจิเป็นคนหนุ่มที่รักในอิสระ มุ่งมั่นต้องการก้าวเดินตามเส้นทางที่ตนเลือกเอง แม้น้องสาวเคยเปรยไว้ว่าชอบในงานเขียนของพี่ชาย แต่ดูเหมือนความสนใจของเขาไม่เคยหยุดนิ่ง วันหนึ่งเขาก็หันไปสนใจเรื่องการเกษตร อีกวันก็สนใจเรื่องการสร้างอัญมณีเทียม แถมอีกวันก็หันไปสนใจลัทธิแปลกๆ พ่อของเขาเสียอีกที่ไม่ได้ทัดทานอย่างจริงจัง สุดท้ายก็ปล่อยให้ลูกได้ค้นหาเส้นทางตามใจ ก่อนที่เรื่องเล่าจะมีจุดหักเหเมื่อโทชิน้องสาวเกิดป่วยหนัก การเดินทางแบบไปเรื่อยของเคนจิจึงเหมือนได้ถูกทบทวนใหม่
เรื่องราวที่ถูกบอกเล่าไปนั้น อาจไม่มีอะไรโลดโผนนัก แถมค่อนข้างเรียบเรื่อยตามสไตล์ของหนังญี่ปุ่น เป็นหนังอัตชีวประวัติที่เล่าในสไตล์เมโลดราม่า มีมุกให้ขำบ้างในช่วงต้น แต่ครึ่งหลังเล่นดราม่ากันแบบเพียวๆ หลายฉากเน้นการถ่ายเป็นซีนยาวๆ ด้วยมุมกล้องเดียว ขับเน้นอารมณ์และน้ำเสียงของตัวละครเป็นหลัก ซึ่งต่างคนต่างก็ทุ่มเทเต็มที่จนได้ผลงานคุณภาพแบบนี้ออกมา งานสร้างฉากดูละเอียดตั้งใจ แม้ดนตรีประกอบจะไม่ถึงกับโดดเด่นเป็นที่จดจำ แต่เพลงปิดท้ายตรงเครดิตก็ถือว่าไพเราะยิ่งแล้ว
ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องนี้อ้างอิงจากนิยายขายดีที่เป็นผลงานของ ริโกะ ซาคากุจิ (เจ้าของผลงานบทภาพยนตร์ดังมากมาย อาทิ ‘The Tale of The Princess Kaguya’, ‘After the Rain’ และ ‘Mary and the Witch’s Flower’) ดูเป็นหนังที่ตั้งใจบอกเล่าถึงพลังของครอบครัว ความรักและเชื่อใจที่ต่างคนต่างมอบแต่สิ่งดีๆ ให้กับ ผลักดักให้คนๆ หนึ่งได้ทำในสิ่งที่ชื่นชอบด้วยความตั้งใจ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะทำสิ่งใดสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งสำคัญต่อใจที่สุดคือการได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว ขณะที่อีกด้าน ชีวิตคงเอิบอิ่มได้สูงสุดเมื่อเราได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม เหมือนได้ทำสิ่งสำคัญสำเร็จและไม่รู้สึกว่าตนเองเกิดมาอย่างไร้ค่าก่อนจะต้องตายไป
สำหรับใครที่อยากจะมาชมภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ถูกหยิบมากองรวมกันอยู่ในเทศกาลเดียวแบบนี้ ขอประชาสัมพันธ์บอกกันเลยว่า ‘เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2567’ หรือ ‘Japanese Film Festival 2024’ จะจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ขอนแก่น และสงขลา โดยเริ่มที่กรุงเทพฯ วันที่ 2 – 18 กุมภาพันธ์ 2024 ที่โรงภาพยนตร์ House สามย่าน อ่านรายละเอียดและตารางฉายหนังเพิ่มเติม และซื้อบัตรเข้าชมภาพยนตร์กันที่ เว็บไซต์ของโรงภาพยนตร์ House ณ สามย่าน มิตรทาวน์
ชอบเรื่องไหน สนใจเรื่องใด ก็ซื้อบัตรแล้วเดินเข้าโรงกันได้เลยครับ
รายละเอียดเกี่ยวกับหนัง
ชื่อภาพยนตร์ | Father of the Milky Way Railroad / คุณพ่อแห่งทางเดินรถไฟสายทางช้างเผือก / 銀河鉄道の父 |
กำกับ | Izuru Narushima |
เขียนบท | Yoshinobu Kadoi, Riko Sakaguchi |
แสดงนำ | Nana Mori, Maki Sakai, Masaki Suda, Min Tanaka, Koji Yakusho, Yudai Toyoda |
แนว/ประเภท | ดราม่า |
เรท | |
ความยาว | 128 นาที |
ปี | 2023 |
สัญชาติ | ญี่ปุ่น |
เข้าฉายในไทย | 2 กุมภาพันธ์ 2024 [ในเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2567] |
ผลิต/จัดจำหน่าย | Kino Films, Kinoshita Group |
คะแนนรีวิวหนัง คุณพ่อแห่งทางเดินรถไฟสายทางช้างเผือก
พล็อตและบท - 7
การดำเนินเรื่อง - 6.5
การแสดง - 8
การถ่ายภาพ เทคนิคพิเศษและโปรดักชั่น - 7.5
เพลงและดนตรีประกอบ - 7
7.2
Father of the Milky Way Railroad
ผลงานการกำกับของ อิซูรุ นารูชิมะ ที่บอกเล่าเรื่องราวแนวชีวประวัติของ เคนจิ มิยาซาวะ กวีและนักประพันธ์ระดับตำนาน นักเขียนหนังสือสำหรับเด็กที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น ด้วยโปรดักชันที่ดีงาม บวกกับการแสดงที่ยอดเยี่ยม ท่ามกลางความเนิบช้าของการเดินเรื่องและเรื่องราวที่ค่อนข้างเมโลดราม่า แต่หนังก็บ่งบอกถึงพลังของความเป็นครอบครัวไว้อย่างชัดเจน ทั้งใส่แง่คิดถึงเรื่องการค้นหาตนเอง และการทำอะไรสักอย่างเพื่อประโยชน์กับคนอื่น