แล้วจักรวาลมาร์เวลก็ถึงกาลกลับมาเล่าเรื่องของเทพเจ้าอีกครั้ง หลังจากเล่าไปสองครา เริ่มอยากจะหาอะไรใหม่ใส่ลงในหนังที่คนเริ่มคุ้นเคย เริ่มด้วยการเปลี่ยนทรงผมของเทพเจ้าสายฟ้า เปลี่ยนผู้กำกับเป็นคนใหม่ และปรับหลายสิ่งที่ทำให้ได้หนังธอร์ในกลิ่นใหม่ๆ กลายมาเป็น ‘Thor Ragnarok’ ถ้าเรียกเป็นชื่อไทยก็ได้ว่า ‘ศึกอวสานเทพเจ้า’ ที่เราจะได้ดูกันในวันนี้
ธอร์ภาคนี้เปลี่ยนมือมาเป็นทีของ Taika Waititi ผกก. ที่มีผลงานอย่าง ‘Hunt for the Wilderpeople’ ได้ลองใช้ความสามารถและเอกลักษณ์ของตัวเองเพื่อสร้างสรรค์หนังซูเปอร์ฮีโร่ที่แตกต่างไปจากสองภาคก่อนดูบ้าง
ซึ่งก็ค่อนข้างเปลี่ยนไปพอสมควรทีเดียว
เรื่องย่อหนัง ‘Thor Ragnarok’
เทพเจ้าสายฟ้าธอร์ (Chris Hemsworth) ในภาคนี้ เขาจะต้องผจญกับเหตุสงครามยักษ์ที่เคยถูกทำนายทายทักเอาไว้แต่ชาติปางไหนไม่ทราบ มันจะกลายเป็นสงครามที่ทำลายแอสการ์ดให้ย่อยยับ ทว่าก่อนหน้านั้น เขาถูกเนรเทศไปยังสุดขอบจักรวาล เมื่อได้รู้ว่าสงครามตามคำทำนายมันได้เริ่มต้นขึ้นไปแล้ว เขาก็ต้องหาทางกลับมายังแอสการ์ดเพื่อยับยั้งความสูญเสียนั้นให้ได้
แต่ก็ปรากฏว่า เขาไม่อาจได้กลับแอสการ์ด
ธอร์ได้พบว่า โลกิ (Tom Hiddleston) พี่น้องบุญธรรมผู้แปลงเป็นเทพโอดินเพื่อครอบครองแอสการ์ด ขณะที่ยังไม่ทันได้ทำอะไรก็ต้องพบกับการโจมตีของเฮล่า (Cate Blanchett) จนเขาต้องสูญเสียค้อนคู่กายไป นี่คงเป็นครั้งแรกของธอร์ที่ต้องต่อสู้โดยไร้ค้อน
ไม่ทันไร ธอร์ก็ต้องไปผจญภัยบนดาวขยะ ที่นั่นเขาต้องต่อสู้กลางสนามประลองในลักษณะแกลดิเอเตอร์ กับคู่ปรับที่เขาคุ้นเคย แบนเนอร์ หรือยักษ์เขียว ฮัลค์ (Mark Ruffalo) นั่นเอง
แล้วเขาจะทำยังไงกับการกลับแอสการ์ดเพื่อภารกิจต่อกรกับเฮล่า วายร้ายผู้ซึ่งกลับมาเพื่อทำลายล้างนครอันเรืองอร่ามให้พังยับไปกับตา
วายร้ายผู้ซึ่งมีพลังสูงลิบเกินกำลังที่เขาจะต้านทานไหว
รีวิวหนัง ‘ศึกอวสานเทพเจ้า’
หลังธอร์ภาคแรกดูไม่มีจุดเด่นอะไรมากนอกจากความเป็นภาคกำเนิดเทพเจ้าสายฟ้า ภาคถัดมา ‘Thor: The Dark World’ จึงจัดเต็มความบันเทิงมากขึ้นด้วยฉากบู๊ฉวัดเฉวียนและการวาร์ปไปมา จนเรียกศรัทธาคนดูขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง มาคราวนี้ Marvel ผ่าตัดใหม่อีกครั้งด้วยการเพิ่มสีสันให้กับธอร์ผู้เริ่มเบื่อหน่ายกับบทเดิมๆ
ซูเปอร์ฮีโร่สายตลก สีสันฉูดฉาด ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และร็อก
ด้วยลีลาส่วนตัวของผู้กำกับฯ ที่นำความด้นสดและความตลกโปกฮาคาเฟ่เข้ามาใส่หนังเทพเจ้าหน้าหล่อหุ่นล่ำ ทำให้กลายเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่เต็มไปด้วยมุกตลกยียวนกวนประสาทไม่เว้นระยะ แม้ช่วงแรก มุกอาจจะยังไม่ปังเท่าไหร่ ไม่ถึงกับชวนขำกลิ้งได้มากนัก พอจะทำให้หึๆ ได้บ้าง
แต่ยอมรับว่าช่วงครึ่งหลัง นั่งหัวเราะกันสนุกไปเลย
ไม่เพียงเท่านั้น ธอร์ภาคนี้ยังแต่งเติมสีสันให้ดูบันเทิงยิ่งกว่าเดิมด้วยการใส่ลีลาการเล่าที่มีสีสันยิ่งกว่าเดิม เราจะได้เห็นธอร์ผู้ค้นพบการต่อสู้แบบใหม่เมื่อเขาต้องไร้ค้อนคู่กาย เล่าเรื่องด้วยการให้พี่น้องที่ชอบขัดขากันต้องมาจับมือสู้กับวายร้ายที่มีพลังหญิงสุดแกร่ง ผสานไปกับการใช้ดนตรีและเพลงประกอบที่เลือกเฟ้นมาให้ดูน่าตื่นเต้นแบบวัยรุ่นกว่าเคย ด้วยดนตรีอิเล็กทรอนิกส์บ้าง บางช่วงต้องการความรุนแรงแบบเฟี้ยวๆ บ้าง ก็จะใช้ดนตรีร็อกมาเสริม
ทำให้ความมันในภาคนี้มันเพิ่มจากภาคเดิมไปประมาณนึง
ตัวละครหญิงโดดเด่นทั้งตัวดีและตัวร้าย
ในภาคนี้ เราจะได้พบกับตัวละครวายร้ายเพศหญิงตัวแรกในจักรวาล MCU ราชินีเฮล่า โดยข่นแม่เคท ผู้สตรองที่สุดในปฐพี ชายชาตรีอย่างธอร์ยังไม่รู้จะจัดการให้อยู่หมัดยังไง
แถมท่วงท่าการเดินยังกับอยู่บนแคทวอล์ก น่าหมั่นไส้ยิ่งนัก แม้เราจะตะหงิดๆ กับการที่กลับมาได้ทั้งที่เคยถูกเนรเทศไปได้แสนนานจนสองภาคก่อนไม่เคยถูกพูดถึงได้เลยก็ตาม แต่บทหนังก็พยายามจะเอาตัวรอดไปได้ คนดูคงไม่ต้องคิดมากเรื่องนี้
ในภาคนี้ เธอเลือกสมุนมือขวาได้แปลกประหลาดโลกมาก และผู้รับหน้าที่นั่นคือ สเกิร์จ (Karl Urban) ส่วนจะรับไว้ด้วยเหตุผลใดก็ขอเชิญไปติดตามกันเอาเอง
ตัวละครหญิงอีกตัว เป็นฝ่ายดี คือเป็นวัลคีรี่ (Tessa Thompson) สาวหุ่นเท่ขี้เมาที่ธอร์ไปเจอเข้าตอนพลัดตกลงไปบนดาวขยะนั่น จนต้องกลายเป็นนักสู้ในอาณัติของเธอนั่นน่ะแหละ
นอกจากตัวละครหญิงแล้ว ก็ยังมีตัวละครชายตัวใหม่ๆ ที่มาสร้างสีสันให้กับหนังด้วยเช่นกัน ที่ชัดสุด ก็คือแกรนด์มาสเตอร์ (Jeff Goldblum) ผู้ซึ่งเปรียบเป็นเจ้าผู้ครองนครขยะแห่งนั้นที่ค่อนข้างเล่นได้ยียวนกวนประสาทได้ประมาณหนึ่ง
แถมการจัดวางเรื่องยังดูไม่ซับซ้อน ดูง่ายและเข้าใจง่ายอย่างที่ไม่ต้องเคยดูภาคไหนมาก่อนก็สามารถจะเข้าใจได้
จริงๆ นะ!
ล้อเลียนตัวเองบ้าง เน้นหยิบจับโน่นผสมนี่เหมือนเคย
ด้วยการจัดวางเรื่องราวที่ไม่ทิ้งกลิ่นความเป็นมาร์เวล เน้นให้ความบันเทิงกับผู้ชมมากกว่าจะเน้นปรัชญาหรือความเคร่งเครียดจริงจัง พล็อตจึงไม่จำเป็นต้องสมเหตุไปเสียทุกอย่าง ขอให้เอื้อกับการเซอร์ไพรซ์ผู้ชม เอื้อกับการที่บางตัวจะต้องออกมาในเวลาที่ผู้ชมคาดหวัง และแน่นอน มันต้องเป็นฉากต่อสู้และแอคชั่นที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกตามไปได้
หนังพยายามเล่นมุกล้อเลียนตัวเองอยู่หลายที แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดกว่า คือการหยิบเอาหนังเรื่องอื่นมายำรวม สังเกตได้จากการที่ตัวเองคิดถึงหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ระหว่างดู ดั่งรู้ว่าฉากไหนที่คนชอบจากหนังเรื่องไหน มันคงไม่แปลกหรอกที่เราอาจจะเห็นความเป็น Gladiator, Hunger Games, 300 แม้แต่ Harry Potter ในหนังเรื่องนี้
เราจะได้เห็นความกวนตีนที่มีอยู่ในทุกตัวละคร โดยเฉพาะธอร์ที่มีมาดเข้มนิ่งมาโดยตลอด แต่เขาก็ยังดูรับส่งมุกตลกได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะกับทั้งพี่ฮัลค์ตัวเขียว หรือกับโลกิพี่น้องไม้เบื่อไม้เมาของตัวเอง แล้วก็ยังพบเห็นความกวนตีนในตัวละครอีกหลายตัว
จนเริ่มสงสัยว่า ผู้กำกับมันบ้ามาจากไหนรึเปล่า เล่นกันขนาดนี้
โดยภาพรวมก็เหมือนหนังจะยังคงมีการหยิบของหลายสิ่งมายำรวม ซึ่งใกล้เคียงกับภาค ‘The Dark World’ หากแต่ภาคนี้ เพิ่มสีสันให้จัดจ้านขึ้น เพิ่มความตลกในบทสนทนาเข้าไปตลอดเรื่อง ใส่ดนตรีประกอบให้มันเฟี้ยวฟ้าวยิ่งขึ้น ทำทุกอย่างเพื่อให้คนดูบันเทิงยิ่งขึ้น
ซึ่งก็นับเป็นหนทางใหม่ที่ไม่เลว
แม้มุกตลกช่วงครึ่งแรกของหนังจะฮาบ้างแป้กบ้าง (สำหรับผม) แต่ก็มองครึ่งหลังนั่นฮาและเข้าท่ามากทีเดียว เพราะมันทำให้ขำแรงแบบต่อเนื่อง แม้พล็อตมันจะดูมาร์เวลจ๋า ไม่มีอะไรซับซ้อนหรือเกินความคาดหวัง มีตัวละครที่เข้ามาเซอร์ไพรซ์แต่ก็ไม่ได้มีหลายตัวนัก และตามเคยก็คือ มีของแถมเป็นปกติ ฉากแถม 2 จุดที่กลางและท้าย End Credit
หนังจบแล้วไม่ต้องลุก อยู่ยาวจนหมดตัวหนังสือเลยนะครับ
ชื่อภาพยนตร์: Thor: Ragnarok / ศึกอวสานเทพเจ้า
ผู้กำกับภาพยนตร์: Taika Waititi
ผู้เขียนบทภาพยนตร์: Eric Pearson, Craig Kyle, Christopher Yost,
นักแสดงนำ: Chris Hemsworth, Tom Hiddleston, Cate Blanchett, Idris Elba, Jeff Goldblum, Tessa Thompson, Karl Urban, Mark Ruffalo, Anthony Hopkins, Benedict Cumberbatch, Taika Waititi
ดนตรีประกอบ: Mark Mothersbaugh
ความยาว: 130 นาที
แนว/ประเภท: Action, Adventure, Comedy, Sci-Fi
อัตราส่วนภาพ: 2.35 : 1
ปี: 2017
เรท: ไทย/, MPAA/PG-13
วันที่เข้าฉายในประเทศไทย: 2 พฤศจิกายน 2017
สตูดิโอ/ผู้สร้าง/ผู้จัดจำหน่าย: Marvel Entertainment, Marvel Studios, Walt Disney Pictures
ศึกอวสานเทพเจ้า
Thor: Ragnarok - 8
8
Thor: Ragnarok
นับว่าเป็นความบันเทิงสำหรับผู้ชม โดยเฉพาะแฟนหนังซูเปอร์ฮีโร่ฝั่งมาร์เวล เล่าเรื่องด้วยบทสนทนาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ของตัวละคร มีฉากพะบู๊ที่ลุ้นสนุกแกมตลก เพิ่มสีสันหลายสี เติมเพลงประกอบให้มีความอิเล็กทรอนิกส์ และร็อกเข้าไปให้เฟี้ยวฟ้าวขึ้น แม้มุกตลกจะมาดีเอาครึ่งท้าย และหนังยังคงสไตล์หยิบทุกอย่างมายำก็ตามที
1 คอมเมนต์