![รีวิว Memories of Murder | ตำรวจ(ต้องไม่)ทำร้ายประชาชน](http://i0.wp.com/www.patsonic.com/wp-content/uploads/2020/12/memories-of-murder-featured.jpg?fit=1200%2C676&ssl=1)
ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานหลาย มีภาพยนตร์บางเรื่องของ บงจุนโฮ ที่ถูกปล่อยให้กลายเป็นหนังที่ยังไม่ได้ดู เรื่องนี้ถือเป็นหนังขึ้นหิ้งที่หลายคนยกให้เป็นอันดับหนึ่งตลอดกาล แต่จนแล้วจนรอดก็เหมือนชะตาจะตั้งใจให้เรารอคอยเพื่อจะได้ชมในโรงภาพยนตร์ ผลงานในปี 2003 จากผู้กำกับคนนี้ ‘Memories of Murder’ ที่ทีมงาน Documentary Club จัดมาฉายในโรงช่วงปลายปี
ไม่ว่าคุณจะเคยดูภาพยนตร์เรื่องไหนของ บงจุนโฮ ไม่ว่าจะ ‘Parasite’, ‘Snowpiercer’, ‘Okja‘, ‘Mother’ หรือ ‘The Host’ นี่คงเป็นหนังอีกเรื่องที่คุณต้องได้ดู และถ้าได้ดูในโรงหนังมันคงเต็มอิ่มถึงอารมณ์เป็นที่สุด
และวันนี้ ผมคือคนที่ได้รับประสบการณ์นั้นแล้ว!
เรื่องย่อหนัง ‘Memories of Murder’
เรื่องราวมันเริ่มที่ฆาตกรรมแรกของฆาตกร เมื่อนักสืบพัค (Song Kang Ho/ซงคังโฮ จากหนังเรื่อง ‘Parasite’, ‘Snowpiercer’ และ ‘The Host) กับนักสืบโช (Kim Roe Ha จากซีรีส์เรื่อง ‘อิลจิแม’ และหนัง ‘Monster’ และ ‘The Host’) ต้องมาร่วมสืบคดีด้วยกัน ภายใต้การกดดันของสังคมและสื่อ ในเมื่อไม่อาจจะหาหลักฐานและพยานรู้เห็นได้ พวกเขาจึงใช้วิธีหาแพะรับบาปมารับบทเป็นฆาตกร
วิธีการช่างแสนแยบยล บีบบังคับให้ประชาชนผู้ที่ไม่น่าจะเป็นฆาตกรตัวจริง แต่สภาวะของร่างกายหรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้เขาต้องเลือกจะทำตามที่ตำรวจสั่ง ถ้าไม่ทำตามก็จะต้องทำร้ายร่างกายต่างๆ นานา
ในที่สุด ก็ได้มือดีจากโซลที่เข้าอาสามาช่วยสืบคดี เขาคือนักสืบซอ (Kim Sang Kyung/คิมซังคยอง จากซีรีส์ ‘Racket Boys’, ‘The Crowned Clown’) คนที่มีแววจะเป็นนักสืบได้มากกว่าคนที่เหลือ แถมยังดูจริงจังกว่า ไม่เชื่อในการทำร้ายและบีบบังคับประชาชนให้กลายเป็นแพะ
ทั้งหมดถูกถ่ายทอดออกมาในช่วงเวลาเกาหลีเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนหลายอย่าง ความพยายามของตำรวจกลุ่มเล็กๆ ที่หมายจะสืบคดีดังและเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน โดยที่ยิ่งสืบก็เหมือนจะยิ่งเจอทางตัน
รีวิวหนัง ‘Memories of Murder’
หนังเรื่องนี้สร้างจากเหตุการณ์จริง ฆาตกรรมสะเทือนขวัญในช่วงปี 1986 – 1991 ที่เกิดขึ้นในเมืองเล็กๆ นอกกรุงโซล เมื่อมีผู้หญิงถึง 10 คนที่ถูกข่มขืนและฆาตกรรมอย่างเหี้ยมโหด ทั้งๆ ที่อยู่ห่างกันเพียงรัศมี 2 กิโลเมตรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้
เขาจึงกลายเป็น “ฆาตกรต่อเนื่องคนแรกของเกาหลี” โดยที่ตำรวจไม่สามารถตามจับกุมตัวได้
หนังมีความกล้าตีแผ่กระบวนการยุติธรรม-ตำรวจ
ภาพของสังคมเกาหลีใต้ที่ถูกฉาบทาด้วยภาพของ “ยุคสมัยแห่งความไร้เดียงสาและความเพิกเฉย” ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือ และความสามารถในการสืบสวนของตำรวจยังดูน้อยนิด โครงเรื่องที่นำมาจากเหตุการณ์จริง แต่ถูกเล่าในแบบของภาพยนตร์ที่มีทั้งมุมตลกขบขัน และมุมเคียดขึ้งจริงจัง ทั้งสะเทือนหัวใจ เรื่องราวของเหตุฆาตกรรมผ่านการสืบสวนสอบสวนของตำรวจที่ต่างคนต่างบุคลิกและต่างความคิด
เหตุฆาตกรรมครั้งแรก ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม … ตามมา แต่ตำรวจไม่สามารถสืบสาวราวเรื่องได้สักนิด มีแต่ความกดดันจากสังคมและสื่อที่ผลักให้การไร้ทั้งความสามารถ ไร้ทั้งความร่วมมือ แปรเปลี่ยนเป็นการสรรหา “แพะรับบาป” และความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่าที่ตำรวจทำกับประชาชน
หนังจึงสร้างมาเพื่อสองนัย นัยหนึ่งก็บอกถึงภาวะอันบีบคั้นและอยู่ยากของการเป็นตำรวจ ถึงขนาดที่ภรรยาของนักสืบพัคก็ยังอยากให้ลาออกมาเลยด้วยซ้ำ กับอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ภาพของตำรวจที่ควรจะอยู่ข้างประชาชน (เพราะส่วนหนึ่งตนเองก็เป็นประชาชนและอยู่ในสังคมในฐานะประชาชน) กลับเลือกจะใช้กำลังทำร้าย บีบบังคับให้รับสารภาพทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำ
ในระหว่างดู เราจึงอาจจะทั้งเห็นใจและไม่ชอบใจในตำรวจไปพร้อมๆ กัน
หนังเหมือนจะแบ่งเป็นสองครึ่งอย่างชัดเจน ครึ่งแรกนี่มีความตลกโปกฮาออกรสออกชาติ นักแสดงนำทั้งสองคนไม่ว่าจะเป็น ซงคังโฮ และ Kim Roe Ha ต่างช่วยกันสร้างสรรค์พาร์ทนี้กันได้อย่างดี แถมหลายครั้งยังชวนขำขื่นๆ ปนตะขิดตะขวงใจไปด้วย ส่วนพาร์ทหลังที่นักสืบซอเข้ามาร่วมสืบและทำให้สองนักสืบดั้งเดิมรู้สึกตัวจนต้องเปลี่ยนท่าที ช่วงนั้น หนังก็เครียดขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากเรื่องรวมๆ ของตำรวจและคดีแล้ว ก็ยังพาไปสำรวจความคิดของตำรวจด้วย อย่างเช่น นักสืบพัคที่มักจะคิดว่าตัวเองมองผู้ต้องสงสัยเพียงปราดเดียวก็รู้แล้วว่า ใครคือผู้ร้าย แต่หนังก็บอกกับเราอย่างชัดเจนว่า เขามองออกจริงๆ หรือไม่ หรือแค่คิดไปเอง
หนังค่อยๆ เล่าเป็นขั้นเป็นตอน ให้ซีนกับแต่ละตัวละครได้อย่างทั่วถึง จิกกัดเสียดสีระบบยุติธรรม หน้าที่ของตำรวจต่อประชาชน การสืบคดี ต่อยหนักในทุกส่วนเสี้ยว เป็นหนังเรื่องเดียวที่ใส่มามากมายหลายแง่มุม หากแต่ยังกลมกลืนไม่ประดักประเดิด
แถมยังมีดนตรีประกอบที่ ‘โคตรส่ง’ อีกต่างหาก
การสืบคดีของตำรวจในวันเก่า
ผมค่อนข้างชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มากทีเดียว ไม่อาจจะวัดได้ว่าชอบมากหรือน้อยกว่า Parasite แต่ชื่นชอบในมีความกล้าเล่าเรื่องที่ตีแผ่วงการตำรวจของเกาหลีใต้
เรื่องราว บทสนทนา การถ่ายทำ มันมีความดิบกว่า ไม่ต้องประดิดประดอย ไม่ต้องเนี้ยบ ทั้งฉากต่างๆ มันดูให้ความรู้สึกเหมือนเกาหลีในอดีตมากๆ เลย ดูคล้ายกับชนบทเมืองไทยที่เคยคุ้นมาในวัยเยาว์เสียด้วยซ้ำ
เรื่องราวที่เล่าย้อนกลับไปในวันเก่า วันที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีไม่พอ นิติวิทยาศาสตร์ไม่ต้องพูด การตรวจดีเอ็นเอยังไม่มีในเกาหลี การเก็บภาพยังต้องใช้กล้องฟิล์ม เครื่องมือสื่อสารไม่ทันสมัยมีใช้แค่โทรศัพท์บ้าน มันก็ยากจริงๆ แหละ หากจะสืบคดีข่มขืนและฆ่าโดยที่ไร้ซึ่งพยานและหลักฐานเช่นนี้
ไม่พอ หนังยังแอบจิกกัดเหล่าตำรวจที่ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือแม้จะถูกร้องขอ และกำลังตำรวจส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้การปราบปรามผู้ชุมนุมเสียหมดแล้ว มันช่างคล้ายคลึงกับตำรวจในบางประเทศจริงๆ เลย
หนังเหมือนจะพยายามเดินไปให้ถึงตัวฆาตกร แต่ก็ดูจะเดินไปใกล้ถึงแต่ก็ไม่ถึงสักที ตัวเรื่องจึงมีความน่าเศร้าสะเทือนใจและความสิ้นหวังผสมปนเปอยู่พอสมควร ความยุติธรรมยังอยู่จริงหรือไม่ หรือมีแค่ไหน ขนาดคนที่ตั้งใจและมีอุดมการณ์ยังธาตุไฟแตกกลายเป็นพวกชอบใช้กำลังอย่างพวกที่ตัวเองรังเกียจได้เลย
ตอนจบของหนังยังทิ้งท้ายสร้างความสั่นสะเทือนใจ พร้อมๆ กับสร้างคำถามให้เกิดขึ้นในใจผู้ชม สร้างหัวข้อให้เกิดการถกเถียงในใจว่า ในช็อตสุดท้ายนั้น ตัวละครคิดเห็นสิ่งใดอยู่
และนั่นจะเป็นเสียงที่คุณตอบให้กับตัวเอง
ภาพยนตร์เรื่อง: Memories of Murder
ผู้กำกับภาพยนตร์: Bong Joon Ho/บงจุนโฮ
ผู้เขียนบท: Bong Joon Ho, Kim Kwang Rim, Shim Sung Bo
นักแสดง: Song Kang Ho/ซงคังโฮ, Kim Sang Kyung, Kim Roe Ha
ดนตรีประกอบ: Tarô Iwashiro
ความยาว: 131 นาที
ปี: 2003
แนว/ประเภท: Action, Crime, Drama, Mystery, Thriller
อัตราส่วนภาพ: 1.85 : 1
ประเทศ: เกาหลีใต้
เรท: ไทย/-, MPAA/-
วันที่เข้าฉายในประเทศไทย: 17 ธันวาคม 2020
สตูดิโอ/ผู้สร้าง/ผู้จัดจำหน่าย: CJ Entertainment, Muhan Investment, Sidus
Memories of Murder
บทและพล็อต - 9.5
การแสดง - 9
เพลง/ดนตรีประกอบ - 9
การดำเนินเรื่อง - 10
งานภาพ - 9
9.3
Memories of Murder
ผลงานระดับขึ้นหิ้งของผู้กำกับแดนกิมจิ บงจุนโฮ ที่นำเรื่องราวจริงของฆาตกรรมต่อเนื่องครั้งแรกในเกาหลีมาตีแผ่ถึงการทำงานของตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่อาจนำคนผิดมารับโทษ ดีแต่เอาแพะมารับบาป หนังมีความจิกกัดตำรวจมากทีเดียว ขณะเดียวกันก็ให้ความเป็นมนุษย์กับตำรวจมากพอสมควร หนังเพียง 130 นาทีที่แทรกใส่หลากหลายแง่มุมได้กลมกลืน ทั้งสนุกสนาน เคียดขึ้ง แฝงความเจ็บแค้น และเสียดสีได้ถึงอารมณ์ยิ่งนัก