ภาพยนตร์รีวิว

รีวิวหนัง The Father | ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดภาวะสมองเสื่อมสู่ผู้ชม

หนังดีที่เข้าชิง 6 ออสการ์ เรื่องราวของพ่อที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมกับลูกสาวที่ต้องเลือกสักทาง

เกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นธรรมดาโลก ขึ้นต้นอย่างนี้ก็คงจะคิดว่า บทรีวิวคงกำลังพูดถึงเรื่องทางธรรม แต่ไม่ใช่หรอก นายแพทกำลังพูดถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เพิ่งจะได้ไปดูมา เรื่องของพ่อที่เป็นโรคสมองเสื่อมกับลูกสาวที่ต้องปวดร้าวที่เห็นอาการของพ่อทุกเมื่อเชื่อวัน ‘The Father’ คือภาพยนตร์เรื่องนั้น

Anthony Hopkins กับบทบาทพ่อผู้ที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม ใน ‘The Father’

ผลงานการกำกับของ Florian Zeller/ฟลอเรียน เซลเลอร์ ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่คนดูหนังทั่วไปอาจไม่คุ้นชื่อ แต่เขาสร้างชื่อการเป็นคนเขียนบทหนังมาก่อน ผลงานก่อนหน้านี้ก็มีอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ‘Amoureux de ma femme’, ‘Florida’, ‘Do Not Disturb’ ครั้งนี้เขาทั้งเขียนบททั้งกำกับเอง แถมยังได้นักแสดงระดับมากฝีมือมาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น Anthony Hopkins, Olivia Colman, Imogen Poots และอีกหลายคน

แล้วก็ได้เวลามานั่งดูหนังที่มีชื่อเข้าชิงออสการ์ถึง 6 รางวัลเรื่องนี้


เรื่องย่อหนัง ‘The Father’

แอนโธนี (Anthony Hopkins/แอนโธนี ฮอปกินส์ จากหนังเรื่อง ‘The Silence of the Lambs’, ‘Thor: Ragnarok’ และ Hannibal) เขาคือพ่อผู้มีอาการของภาวะสมองเสื่อม (Dementia) แต่เขายังไม่รู้ตัวว่าอาการนั้นมันได้เกิดกับเขามาสักพักแล้ว

แอนน์ (Olivia Colman/โอลิเวีย โคลแมน จากหนังเรื่อง ‘The Favourite’, ‘The Lobster’ และซีรีส์เรื่อง ‘The Crown’) ลูกสาวคนโตของแอนโธนี เธอรู้สึกปวดใจทุกครั้งที่พ่อของเธอเอาแต่พูดพร้ำเพ้อถึงน้องสาวของเธอ เธอพยายามอย่างที่สุดในอันที่จะหาพยาบาลมาคอยดูแลผู้เป็นพ่อ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรดีขึ้น คนแล้วคนเล่าที่ทนอยู่กับแอนโธนีไม่ไหว ด้วยอารมณ์ที่ขึ้นลองไม่แน่นอนของเขานั่นเอง

ตัวอย่างหนัง ‘เดอะ ฟาเธอร์ ที่เข้าไทย ฉายเฉพาะโรง HOUSE สามย่านเท่านั้น

ล่าสุด ลอร่า (Imogen Poots จากหนังเรื่อง ‘Green Room’, ‘Knight of Cups’ และ ‘I Kill Giants’) คือพยาบาลคนใหม่ที่ตกลงปลงจะรับงาน แต่พฤติกรรมของแอนโธนี ประกอบกับพอล (Rufus Sewell) สามีของเธอก็ดูไม่เห็นดีเห็นงามกับความคิดของเธอ คงถึงเวลาที่แอนน์ต้องเลือกเสียทีว่าจะยังทนอยู่แบบนี้ต่อไป

หรือจะเลือกใช้วิธีอื่น…


รีวิวหนัง ‘The Father’

เรื่องราวที่ดูดราม่าตั้งแต่แรกเห็นตัวอย่างหนัก ไม่คาดหวังสิ่งใดอื่นนอกจากบทบาทและความสามารถทางการแสดงของหลายๆ คนที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ จะว่าไป พล็อตมันก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เล่าให้จบได้ในเพียงประโยคเดียวด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ถือว่าเกินคาดนั้นก็คงจะเป็นกลวิธีในการเล่าเรื่องนั่นเอง

ลำดับเรื่องราวซะ เหมือนกำกับให้คนดูเป็นภาวะสมองเสื่อมเสียเอง

แต่ละท่อนของเรื่องราวถูกเรียงร้อยด้วยบทอันเรียบง่าย ผ่านท่อนแรกไปเหมือนจะไม่มีอะไรมาก แต่ผ่านไปถึงท่อนที่สองสามสี่ กลับรู้สึกเหมือนผู้กำกับจะสนุกมือกับการปั่นหัวคนดูอยู่ไม่น้อย เพราะมีอะไรมาให้เซอร์ไพรส์ได้อยู่เรื่อยๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อนั่งดูไปพิจารณาไปก็จะมองเห็นจุดประสงค์ของการเล่าเรื่องแบบนี้อยู่พอสมควร

หลักใหญ่เลยก็คือ น่าจะต้องการให้ผู้ชมรู้สึกมึนๆ งงๆ หลงๆ ลืมๆ เหมือนกับที่แอนโธนี พ่อของแอนน์ เขาเป็นอยู่นั่นแหละ

โปสเตอร์หนัง ‘เดอะ ฟาเธอร์’

ด้วยการเรียงเรื่องราวสลับกันไปมา สิ่งที่ได้ยินมาจากฉากก่อนหน้า ปรากฏว่า พอมาฉากนี้บอกไม่ได้พูด หรืออาการหลงลืมของพ่อที่บางทีก็จำลูกตัวเองไม่ได้ หนังก็เลยแทนด้วยหน้านักแสดงคนอื่นไปซะ คนดูก็ยังงงเองเลยว่า อ้าว ตกลงคนไหนกันแน่ที่เป็นลูกของคุณพ่อ เป็นต้น

ดูจบแล้วจึงเข้าใจหัวอกของคนที่มีภาวะสมองเสื่อมโดยไม่ต้องอธิบายใดๆ

ลูกสาวที่อยู่บนสองทางเลือก

แอนน์ผู้ต้องทนปวดใจอยู่กับพ่อที่เอาแต่พูดถึงน้องสาว แต่เพราะความรักความผูกพันจำต้องทนกล้ำกลืนมองข้ามไป หันมาใส่ใจการหาพยาบาลหรือผู้ดูแลคนใหม่ให้กับพ่อตัวเอง ด้วยปัจจัยต่างๆ นานาที่เธอต้องแบกรับ

Olivia Colman ในบทลูกสาวของคุณพ่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม ใน ‘เดอะ ฟาเธอร์’
  • พ่อที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ อารมณ์เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง และหมกมุ่นอยู่กับนาฬิกา ทำให้ผู้ดูแลคนเก่าๆ ไม่มีใครอยู่ได้นาน สุดท้ายก็จากไป ทำให้แอนน์ต้องหาคนใหม่มาทดแทน
  • ข้อมูลที่ได้รับจากหมอก็บอกอยู่ก่อนแล้วว่า ภาวะสมองเสื่อมของแอนโธนีนั้นไม่มีทางดีขึ้น มีแต่จะแย่ลงไปเรื่อยๆ และสุดท้าย พ่อของเธอก็ไม่พ้นจะต้องไปอยู่ในโรงพยาบาล
  • พอล ที่เป็นสามีของเธอ ดูเหมือนจะไม่ค่อยพอใจสักเท่าไหร่ที่ชีวิตในแฟลตของเขาต้องถูกรบกวนโดยพ่อของแอนน์ เขาจึงมักคัดค้านอยู่เสมอที่เห็นเธอยังดื้อดึงเก็บพ่อไว้ใกล้ตัวและหาผู้ดูแลคนใหม่มา ทั้งที่อาการก็แย่ลง และมองไม่เห็นการมีผู้ดูแลจะช่วยอะไรได้

แอนโธนี ฮอปส์กิน สุดโดดเด่น รองลงมา คือ โอลิเวีย โคลแมน

ตลอดช่วงเวลาของหนัง บทค่อนข้างส่งให้ แอนโธนี ฮอปส์กิน ได้แสดงบทเด่นสูงสุด เขาได้เห็นทั้งการเป็นคนแก่ที่ก้าวร้าว หลงลืมสิ่งที่เคยรู้หรือตีหน้าซื่อเพราะหลงลืม ทั้งยังมีบทให้เขาต้องดราม่าบีบน้ำตาจนคนดูอดไม่ได้ที่จะต้องน้ำตาไหลตาม เรียกได้ว่า สมควรแล้วที่เขาจะติดอยู่ในรายชื่อผู้เข้าชิงในรางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์หนนี้

แต่อีกคนหนึ่งที่จะลืมเสียไม่ได้เลย ก็คือ โอลิเวีย โคลแมน

‘เดอะ ฟาเธอร์’ หนังดราม่าที่มีชื่อเข้าชิง 6 รางวัลออสการ์

เธอเป็นลูกสาวคนโตที่พ่อเอาแต่ฝังใจกับลูกสาวคนเล็ก ละลืมความรักและใส่ใจที่เธอมีให้เรื่อยมา ทำให้ต้องเสียน้ำตาอยู่บ่อยๆ กับคำพูดที่ถึงแม้มันจะออกมาจากคนที่มีภาวะสมองเสื่อม แต่มันก็มาจากปากคนที่เป็นพ่อ เธอต้องอยู่กับการอยู่ท่ามกลางความคิดสองฝักสองฝ่าย หนึ่งก็พ่อที่เธอห่วงใย อีกหนึ่งก็สามีที่ต้องการความเป็นส่วนตัว สุดท้าย สองคนนี้ก็คือตัวละครที่พาผู้ชมนั่งเช็ดน้ำตาไปพร้อมๆ กัน

อยากรู้ว่าประสบการณ์สมองเสื่อมเป็นยังไง เข้าไปดูหนังกันเอาเองนะครับ


ชื่อภาพยนตร์: The Father
ผู้กำกับภาพยนตร์: Florian Zeller
ผู้เขียนบทภาพยนตร์: Christopher Hampton, Florian Zeller
ดนตรีประกอบ: Ludovico Einaudi
นักแสดง: Anthony Hopkins, Olivia Colman, Mark Gatiss, Olivia Williams, Imogen Poots, Rufus Sewell, Ayesha Dharker
แนว/ประเภท: Drama
ความยาว: 97 นาที
ปี: 2020
ประเทศ: สหรัฐอเมริกา
อัตราส่วนภาพ: 2.39 : 1
เรท: ไทย/ , USA/PG-13
วันเข้าฉายในประเทศไทย: 12 เมษายน 2021
ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย/สตูดิโอ: Trademark Films, Cine@, AG Studios NYC

เดอะ ฟาเธอร์

พล็อตและบท - 8.3
การแสดง - 9.7
การดำเนินเรื่อง - 9
เพลง/ดนตรีประกอบ - 7.5
งานถ่ายภาพ/เทคนิคด้านภาพ - 8.5

8.6

The Father

หนังดราม่าเรื่องราวของพ่อที่มีภาวะสมองเสื่อม ที่มีชื่อเข้าชิงถึง 6 รางวัลออสการ์ นำแสดงโดย Anthony Hopkins และ Olivia Colman กับบทพ่อและลูกที่ชวนหลั่งน้ำตา หนังใช้กลวิธีการเล่าที่แยบยล พาให้คนหลงอยู่ในโลกของคนภาวะสมองเสื่อม ดูหนังแล้วเข้าใจคนที่มีภาวะเช่นนี้โดยไม่ได้ต้องบอกต้องอธิบายอะไร ดูแล้วก็อาจจะรู้สึกไม่อยากจะอายุยืนยาวเท่าไหร่นะครับ เหอๆ

User Rating: 3.75 ( 1 votes)

PatSonic

บล็อกเกอร์ผู้ชอบดูหนังหลากแนว ฟังเพลงหลายสไตล์ มีเวลาว่างก็จะออกไปท่องเที่ยว บางเวลาก็หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หยิบซีรีส์ขึ้นมาดู แล้วก็จะหยิบมาเขียนให้ทุกคนได้อ่านกัน
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Adblock Detected

เนื่องจากบล็อกนี้อยู่ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อผู้เยี่ยมชม รบกวนไม่ใช้ Ad Blocker เพื่อการเยี่ยมชมที่สมูธครับ